“ธงทอง” ชี้ “สว.แต่งตั้ง” ควรหมดไปได้แล้ว หากอยากได้ “องค์กรอิสระ” ที่มี คุณภาพ
‘ธงทอง จันทรางศุ’ ชี้ ‘สว.แต่งตั้ง’ควรหมดไปได้แล้ว แนะคัดเลือก‘สภาสูง’ต้นทางต้องมีคุณภาพก่อน หากหวังจะได้‘องค์กรอิสระ’มีคุณภาพ เหตุอำนาจผูกกับสว.
วันที่ 24 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ “สว.มีไว้ทำไม?” ตอนหนึ่งว่า ห้วงเวลาเกือบ 100 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเมื่อดูรัฐธรรมนูญทุกฉบับแล้ว เรามีวุฒิสภาเกิดขึ้นควบคู่กับสภาผู้แทนราษฎรเสมอ โดยรัฐธรรมนูญก่อนปี 40 วุฒิสภาหน้าตาเหมือนกันหมดคือพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่พระราชอำนาจโดยดุลยพินิจอิสระ แต่มีผู้รับผิดชอบนำความขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งก็คือนายกฯ ที่มีสิทธิเสนอชื่อคนที่จะเป็น สว.ได้ ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเกิดขึ้นและทำรัฐธรรมนูญในปี 2517 จะมีคำถามเกิดขึ้นทุกครั้งในการร่างรัฐธรรมนูญว่าทำไมควรมีวุฒิสภา เหตุผลที่ตอบกันมาตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงวันนี้ เพราะสส. มาจากพื้นที่การเลือกตั้งตามจังหวัดต่างๆ และมีพรรคการเมืองเป็นผู้สนับสนุน ความเป็นการเมืองมาก จึงเป็นธรรมชาติของสภาฯ ที่ว่าหากพรรคเราเสนอพรรคอื่นก็ต้องไม่เข้าท่า กระทั่งมีข้อกังวลว่าอาจละเลยเหตุผลที่แท้จริงจึงต้องมีวุฒิสภาอยู่
นายธงทอง กล่าวว่า กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ เปิดให้มีการเสนอชื่อสว. ซึ่งมาจากหลากหลายมากขึ้นทั้งพรรคการเมือง และหลากหลายสาขาอาชีพ ดังนั้นในปี 39 สว.จึงมีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อมาถึงปี 40 ที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตนเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้น ซึ่งปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในเวลาทำร่างรัฐธรรมนูญคือควรมีวุฒิสภาหรือไม่ ทุกคนตอบว่ามีแต่เมื่อถามว่ามาจากไหน เสียงส่วนใหญ่ตอบว่าควรมีที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเกิดการเลือกตั้ง สว.ครั้งแรกในปี 40 และรัฐธรรมนูญ 40 ได้ติดอาวุธชิ้นใหม่ให้กับสว.คือก่อให้เกิดองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น แล้วแปะอำนาจนี้ไว้ที่สว.
“เพราะเราหลอกตัวเองมาตั้งแต่ต้นว่าสว.ไม่มีการเมือง เพราะเห็นว่าไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่สุดท้ายแล้วข้อปฏิบัติที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ไม่เห็นจะจริงอย่างที่ว่า องค์กรอิสระก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่อิสระ ศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นหลักได้ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ได้ตามความคาดหวัง เพราะเอาอำนาจไปผูกไว้กับสว.”
นายธงทอง กล่าวต่อว่า เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ยังมีคำถามกันอีกว่าจะให้ สว.มาแบบไหน หากเลือกตั้งแบบเดิมก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นแต่งตั้งก็วนกลับไปที่เดิมว่าใครเป็นคนตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องลงประชามติก่อนประกาศใช้ ดังนั้นสว.จึงมีทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้งทำงานด้วยกัน ซึ่งจากการสังเกตการณ์ สว.กลายเป็นปลาสองน้ำโดยปลาสำลักน้ำทุกตัว ไม่สามารถฟังก์ชั่นอะไรดีๆ ได้ มาถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่กำลังจะต้องมีสว.ชุดใหม่
“ส่วนตัวเห็นว่าองค์กรอิสระจำนวนไม่น้อยเป็นองค์กรที่ไม่อิสระเลย ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นที่พึ่งในทางหลักการประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ดังนั้นหากเราหวังว่าในอนาคตคนที่จะมาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระจะเป็นคนมีคุณภาพ สว.ของเราต้องมีคุณภาพก่อน ต้องชัดเจนว่าตัวเองจะเข้าไปทำหน้าที่อะไร สิ่งเหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญ”
ดังนั้น ตนมองว่า สว.ที่มาจากการแต่งตั้งน่าจะหมดได้แล้ว ส่วนสว.ที่มาจากการเลือกตั้ง หากวันหนึ่งจะมีการเลือกตั้งทั้งหมด การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรหากใช้เขตพื้นที่เป็นเขตเลือกตั้งจะเป็นความซ้ำซ้อนกับสส. หรือไม่ ต้องตอบคำถามให้ได้ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายสำคัญ จะทำให้พัฒนาการเมืองบ้านเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง.