“เศรษฐา” ย้ำตัวเลขศก.อยู่ในภาวะวิกฤต วอน กนง. เร่ง ลดดอกเบี้ย ชี้ สลึงเดียวก็ช่วยได้
เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ’ย้ำตัวเลข เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต วอน กนง. พิจารณาลดดอกเบี้ย ตั้งข้อสังเกตแรง หลังเลขา สศช. ออกมายอมรับ บอกควรพูดก่อนหน้านี้หรือไม่ ชี้ ลดสลึงเดียวก็ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้
วันที่ 20 ก.พ.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) โดยระบุหัวข้อการตอกย้ำตัวเลขเศรษฐกิจ ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมวันนี้ บ่งบอกถึงสถานะของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะ critical stage ท่านเลขา เองก็เห็นด้วยกับการที่ควรต้องมีการลดดอกเบี้ย อยากขอวิงวอนให้ กนง. เรียกประชุมคณะกรรมการเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ย โดยไม่คอยถึงการประชุม scheduled ไว้
อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ได้โพสต์ข้อความหลังพรรคเพื่อไทยนำคำพูดของ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ที่ระบุว่า สิ่งที่พิจารณาในช่วงถัดไปอย่างจริงจัง คือ มาตรการด้านการเงินน่าจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อย่างมาตรการอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ต้องพิจารณาจริงจัง มาโพสต์ว่า
“น่าจะพูดก่อนการประชุม กนง. เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนะครับ ไม่แน่ใจว่าจุดประสงค์ของการพูดตอนนี้เพื่ออะไรหรือบอกว่าผมทำหน้าที่ของผมแล้วซึ่งจริง ๆ แล้วควรจะทำตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ?”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2567 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 แล ะรวมทั้งปี เศรษฐกิจไทย ขยายตัวเพียง 1.9% ว่า เรื่องนี้ได้พูดไปหลายหนแล้ว และน่าจะทราบจุดยืนของตนอย่างชัดเจน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของเรา เฉลี่ยโตต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
เทียบกับลำดับจีดีพีโลกเราก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ และอย่าลืมว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา ยังไม่สามารถใช้งบประมาณได้เลย เร็วที่สุดที่น่าจะใช้ได้ก็คือ 1 เมษายน 2567 แต่ทุกกระทรวงได้ใช้นโยบายเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบเลย ซึ่งหลายสำนักมีการปรับประมาณการณ์จีดีพีลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินการทุกมาตรการที่มีอยู่ ส่วนตัวขอฝากไว้ว่านโยบายดอกเบี้ยไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5 % หากลดลงเหลือ 2.25 % เพียงสลึงเดียวก็จะช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนทุกคนได้ แต่เขาไม่ลดกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดเรื่องนี้มาตลอดแต่ไม่ได้รับการตอบรับจากธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) เลย นายกรัฐมนตรีถามกลับสื่อว่า “ดอกเบี้ยนโยบายใครเป็นคนควบคุม ก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย” ตนพูดคุยกับเลขาธิการสภาพัฒน์ ฯก็บอกว่าเราได้ทำทุกวิถีทางแล้ว และมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งเลขาธิการสภาพัฒน์ระบุว่าได้คุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าถึงเวลาที่จะต้องลด
“ผมจึงบอกว่าทำไมไม่พูดคุยต่อหน้าสาธารณะชนบ้าง และพูดคุยในภาษาที่ชัดเจน ซึ่งเลขาสภาพัฒน์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ผมเองต่างก็จบเศรษฐศาสตร์มา ตรงนี้เราไม่ได้มาเอาชนะกัน แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้น เพื่อรองบประมาณที่จะคลอดออกมา ผมก็ได้สอบถามกับเลขาธิการสภาพัฒน์ว่าสามารถทำอะไรได้อีก หากมีอะไรที่ทำได้ก็ขอให้เสนอมา ผมไม่ได้จมปลักอยู่กับการลดดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่การลดดอกเบี้ยก็เป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งเห็นอยู่แล้วสำหรับตัวเลขที่ออกมา อย่างเช่นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็พยายามที่จะออกมาให้เร็วที่สุด“ นายเศรษฐา กล่าว.