“จุลพันธ์” รับ “ดิจิทัลวอลเล็ต” อาจไม่ทันตามไทม์ไลน์ แต่ รัฐบาล ต้องเดินหน้าต่อ
รมช.คลัง รับ “ดิจิทัลวอลเล็ต” อาจมาไม่ทัน พ.ค. แต่รัฐบาลเดินหน้าต่อ จ่อ ประชุม คกก.นโยบายอีกครั้ง นำความเห็น “กฤษฎีกา-ป.ป.ช.” พิจารณา รับเป็นหน้าที่รัฐบาล ต้องสื่อสารให้ทุกหน่วยเข้าใจตรงกันว่าประเทศมีวิกฤติ
วันที่ 17 ม.ค.2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงข่าวชี้แจง ข้อสงสัยต่อกรณี โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล โดยยอมรับ คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ได้เลื่อนการประชุมจริงเมื่อวาน (16 ม.ค.) เนื่องจากมีเอกสารข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเห็นว่าควรเลื่อนการประชุมก่อน เพื่อรอให้เอกสารของ ป.ป.ช. มาถึงพร้อมกัน แล้วประชุมทีเดียว เพื่อกำหนดแนวดำเนินการต่อไป โดยมองว่าเอกสาร ป.ป.ช.ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการปปช. เป็นประธาน แสดงความเห็นค่อนข้างตรงและแรงพอสมควรในการคัดค้านการดำเนินนโยบาย รัฐบาลก็รับฟังและนำมาพิจารณาประกอบ ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า เอกสารดังกล่าวเป็นทางการแล้วหรือไม่ อย่างไร เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งน.ส.สุภา เป็นผู้ที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาตลอดอยู่แล้ว เวลานี้รัฐบาลก็รอความชัดเจนในเรื่องเอกสารของ ป.ป.ช.
นายจุลพันธ์ ยืนยัน รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความเห็น ตั้งแต่ข้อเสนอแนะในทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ไม่ได้เป็นการไฟเขียว หรือ ไฟแดง ไม่ได้ห้าม และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่ความเห็นของ ป.ป.ช. ค่อนข้างชัดเจนว่า มีการวางธงให้โครงการนี้เดินหน้าไม่ได้ แม้ว่านโยบายเงินดิจิทัลจะได้รับการรับรองจากประชาชนก่อนการเลือกตั้ง และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วก็ตาม ซึ่งบางกลุ่มองค์กร เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ป.ป.ช. มีความเห็นแตกต่าง ที่อาจยังมองไม่เห็นว่าประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤติตามที่รัฐบาลบอก
“วิกฤตินี้ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤติการเห็นอกเห็นใจพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ Democracy without empathy คือ ทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจจะไปเข้าใจผู้ที่เดือดร้อน มันแสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว รัฐบาลชุดปัจจุบันเราเดินทางไปทั่วประเทศ เราเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เราไม่ได้ทำงานในห้องแอร์ วันนี้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่”นายจุลพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า ดูจากกรอบเวลาแล้ว โครงการไม่น่าทันเดือน พ.ค. แต่รัฐบาลยืนยันเราต้องเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถทันกรอบเวลาในเดือน พ.ค. ได้ หลังจาก ป.ป.ช. ส่งเอกสารความเห็นมา ต่อไปจะเชิญคณะกรรมการนโยบายฯ มาประชุมอีกครั้ง จึงจะเริ่มกระบวนการฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ยังไม่เห็นถึงเจตนาดีที่รัฐบาลพยายามจะทำ เราต้องสื่อสารจนทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน จนเราเดินหน้านโยบายนี้ได้ในที่สุด
“รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นอนุบาลทางการเมือง เราเห็นอยู่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่คืออะไร เรามีหน้าที่ในการทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และได้รับความยอมรับจากทุกภาคส่วน และแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ นี่เป็นสิ่งที่เรายึดเป็นธงหลักและต้องทำให้สำเร็จ” นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า กลไกแหล่งที่มาของเงินทุนจะเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ หรือวิธีอื่น แต่ยอมรับว่าการจะผลักดันให้อยู่ในช่วงเดือน พ.ค. ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จากอุปสรรคที่เห็น ระหว่างนี้รอความชัดเจนของเอกสาร และการปรับความเข้าใจให้ตรงกันของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้ามีการมองว่าไม่ใช่วิกฤติ ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องทำความเข้าใจ เอาข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและเป็นจริง นำเสนอต่อหน่วยงานเหล่านั้น
นายจุลพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนสำรองในกรณีที่โครงการไปต่อไม่ได้ และยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาดำเนินการ ส่วนเรื่องการถอยนั้น ยอมรับว่า ได้มีการปรับลดวงเงินมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากมีความเห็นของหลายหน่วยงานมา อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอการประชุมของคณะกรรมการนโยบายฯ อีกครั้ง จนกระทั่งมีความเห็นจากบางหน่วยงานแล้ว จึงกำหนดแนวทางในการเดินหน้าต่อไป.