วาดโชว์จีน ได้ผล “เศรษฐา” ลุยขายโครงการลงทุน “แลนด์บริดจ์” มูลค่า 1ล้านล้าน
“เศรษฐา” โรดโชว์ “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้าน ควงปากกาวาดเส้นแผนที่ประเทศไทย จุดที่โครงการตัดผ่านให้ฝ่ายจีนเข้าใจง่าย จะได้เห็นภาพโครงการสองท่าเรือ ยอมรับ รีบวาด รีบคุย ภาพเลยออกมาไม่สวย แต่สื่อสารได้ผลดี
วันที่ 18 ต.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ทวิตผ่านโซเชียลมีเดียระบุถึงภารกิจในการเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า
ผมลองวาดเส้นทางของ Landbridge ให้กับทางผู้ประกอบการรถไฟในประเทศจีนให้เข้าใจง่ายขึ้น ทำให้เห็นภาพของโครงการสองท่าเรือ แต่นับรวมเป็นหนึ่ง โครงการจะลดปัญหาการจัดการซ้ำซ้อน (Double Handling) ได้ครับ
รีบวาดรีบคุยให้เข้าใจ แม้ภาพออกมาไม่ค่อยสวยเท่าไรแต่สื่อสารได้ผลดีเลยครับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือโครงการ แลนด์บริดจ์ ที่ประชุมครม.ได้มีมติเมื่อ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้อนุมัติทำการศึกษาซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 มีมติรับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ในลำดับต่อไป
โครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 เนื้องาน ประกอบด้วย
- ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
- ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
- เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack), ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ
และ 4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ.