เล็งสัญญาณการเมือง “ทักษิณ” บินกลับไทย ตรงกับ “วันโหวตนายกฯ”
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย แสดงความเห็นความเห็น กรณีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ตรงกับวันโหวตนายกฯ จะส่งสัญญาณทางการเมืองอย่างไร
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่า การกลับมาของคุณทักษิณ ชินวัตร ผมให้น้ำหนัก 50-50 เพราะว่าก่อนหน้านี้คุณทักษิณก็เคยประกาศมาระยะหนึ่งแล้ว หลายครั้งก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ก็คือมีการเลื่อน จึงต้องบอกว่าไม่ได้เหนือความคาดหมายอะไรเลย เพราะสัปดาห์ที่แล้วผมไปออกรายการหนึ่งมา เคยบอกแล้วว่า การโหวตนายกฯในครั้งนี้เป็นไปได้ที่วันที่ 21-22 สิงหาคม จะมีข่าวคุณทักษิณกลับบ้าน แล้วก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ
การที่คุณทักษิณประกาศกลับบ้านในครั้งนี้ ผมคิดว่าก็อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองท่ามกลางสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญวิกฤต ในเรื่องของความเชื่อมั่น และความเชื่อถือต่างๆ อีกทั้งก็กลัวแคนดิเดตนายกฯ นั่นคือ เศรษฐา ทวีสิน ที่กำลังเผชิญวิกฤต จากที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาพูดอะไรต่างๆ อยู่เช่นเดียวกัน ฉะนั้นการกลับมาก็เป็นยุทธศาสตร์สำหรับเรียกความเชื่อถือของคนในพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน ก็เรียกความเชื่อถือของบรรดาผู้สนับสนุนพรรค แฟนคลับทั้งหลาย เพราะผู้สนับสนุนหลายคนก็เปลี่ยนไปสู่การไม่สนับสนุนแล้ว หรือหลายคนก็ลาออกจากพรรค และเป็นการส่งสัญญาณไปถึง ส.ส.พรรคขั้ว 188 เสียง พร้อมส่งสัญญาณไปถึง ส.ว.ด้วย ฉะนั้น จึงต้องบอกว่าการกลับบ้านของคุณทักษิณ 50-50 ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
ถ้าเราย้อนไปดูช่วงเวลาที่คุณทักษิณประกาศกลับถึงเมืองไทย 09.00 น. ในเวลานั้นเรายังไม่ได้นายกฯ เรายังไม่ได้โหวตกันเลย เพราะการจะโหวตจะเกิดขึ้นช่วงเวลา 15.00 น. ดังนั้นกระบวนการในการได้รัฐบาลยังไม่เกิดขึ้น ถ้าเข้ามาแล้ว แต่สุดท้ายผลการโหวตในสภาไม่เกิดขึ้นตามที่พรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ เช่น อาจจะมีการเปลี่ยนโผกลางอากาศ ก็สามารถเกิดขึ้นได้หมด ซึ่งผมคิดว่ามันมีความเสี่ยงต่อตัวคุณทักษิณเองด้วย
ขณะเดียวกัน เป้าหมายหลักในการประกาศกลับมาครั้งนี้ ผมคิดว่ามันเป็นการส่งสัญญาณไปถึงผู้คนที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะทำให้คนในพรรคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งสัญญาณไปถึงฐานคนสนับสนุนว่าพรรคเพื่อไทยเองก็ยังสู้อยู่ และรวมทั้งการส่งสัญญาณถึงบรรดา ส.ส.ในพรรคร่วมของเพื่อไทย และ ส.ว. ซึ่งผมคิดว่าการส่งสัญญาณนี้ไปถึง ส.ว.ไม่ได้มีสัญญาณบวกเพียงแค่ด้านเดียว แต่อาจจะมีผลลบได้เช่นเดียวกัน
ส่วนการที่จะกลับมาเรียกความเชื่อถือจากฐานผู้สนับสนุน เรื่องความนิยมก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะอย่าลืมว่าคุณทักษิณ คือ ผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่คนในพรรคเพื่อไทยก็คาดหวังว่าจะสามารถแก้วิกฤตของพรรค คุณทักษิณ อาจจะมีส่วนช่วยได้ แต่ ณ วันนี้ผมไม่มั่นใจว่าจะช่วยได้มากน้อยเพียงใด อย่าลืมว่าสถานการณ์ตอนนี้ ไม่เหมือนกันกับในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่มนต์ขลัง พี่โทนี่ อาจจะยังมีอยู่ แต่ตอนนี้ต้องมารอดูว่ามนต์ขลังพี่โทนี่จะยังมีเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ได้สามารถผูกขาดหีบบัตรเลือกตั้งเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป ก็อาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ประสบความสำเร็จในการใช้ยุทธศาสตร์ที่จะให้คุณทักษิณได้กลับบ้าน
ด้านการส่งสัญญาณที่จะสื่อถึงความปรองดอง มีมาตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วแล้ว จากการที่ดึงเอาบรรดาพรรคต่างๆ มารวมกัน แต่ในแง่ของสัญญาณตรงนี้ จะสามารถทำให้บรรลุจริงได้หรือไม่ ผมก็คิดว่า ยังคงมีอีกหลายปัจจัย หลายเงื่อนไข ซึ่งการที่คุณทักษิณจะกลับมาไม่ได้ง่ายขนาดนั้น จากการที่มีการบอกว่าจะกลับบ้านในช่วงเช้า ก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ อย่างน้อยก็ต้องมีความชัดเจนแล้วว่านายกฯต้องมาจากพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทยจัดตั้งสำเร็จ จึงจะมีโอกาสที่คุณทักษิณกลับบ้านได้
ทั้งนี้ การกลับมาครั้งนี้ ที่แน่ๆ เกี่ยวข้องกับการเมืองแน่นอน ไม่ได้เป็นแค่เรื่องภายในครอบครัวเท่านั้น เพราะมันเกี่ยวข้องกับจังหวะเวลาในการโหวตนายกรัฐมนตรี การเลือกกลับมาในช่วง ที่มีการโหวตนายกฯ มีนัยทางการเมืองอยู่แล้ว เมื่อกลับมาแล้ว ผมคิดว่ายังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองที่เกี่ยวข้อง 4 ปัจจัย คือ 1.ผลการเลือกตั้งของประชาชน เป็นการสะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน 2.การประกาศวางมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปเกี่ยวข้องกับขั้วอำนาจเดิม 3.คุณทักษิณกลับบ้าน นี่คือโจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย มุ่งหวังให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ต้องได้เก้าอี้นายกฯ หรืออย่างน้อยเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล 4.การเมืองแบบมวลชน เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ ความหวังของมวลชนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ถ้าไม่ไปด้วยกัน มันก็อาจจะเกิดเรื่องของการชุมนุม หรืออาจเกิดการประท้วงที่นำไปสู่ความรุนแรงได้
ตรงนี้ทำให้เราเห็นได้ว่า การกลับบ้านของคุณทักษิณ เป็น 1 ใน 4 ปัจจัยหลักในการที่จะขับเคลื่อนการเมืองเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ เพราะฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ก็เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ด้วย
ถ้าให้คาดการณ์บรรยากาศวันที่คุณทักษิณกลับมาถึงไทย คงจะมีกระบวนการของเจ้าหน้าที่รัฐรอดำเนินการ เช่น การควบคุมตัว การพาไปที่ศาล และการพาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีขั้นที่เจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแล ฉะนั้น ผู้ชุมนุมคงไม่สามารถเข้าถึงตัวได้ โดยเฉพาะถ้าหากเป็นสนามบิน มีการรักษาความปลอดภัยสูง คงไม่ถึงขั้นมีม็อบ แต่ว่าหลังจากนั้นหากคุณทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วมีโอกาสได้ออกมาสู่สังคม เช่น ได้ประกันตัว หรือออกมาอยู่นอกที่คุมขัง สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวตามมาได้ แต่วันที่คุณทักษิณกลับมาผมคิดว่าน่าจะไม่มีภาพความวุ่นวายอย่างนั้นทันที.