เปิดใจ “ผอ.นิด้าโพล”เครื่องมือ “เช็คกระแส” กลางสมรภูมิการเมืองร้อนๆ

“นิด้าโพล” เป็นเครื่องมือสำรวจความเห็นประชาชน ที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน จากผลงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะความแม่นยำ ที่สามารถตอบโทจย์ สาธารณชน และ ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ที่ทุกฝ่ายกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด ใครจะมารับช่วงอำนาจต่อ และ จะนำประเทศชาติไปในทิศทางใด “สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล คือบุคคลที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด

ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดใจในฐานะผู้ทำโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในห้วงการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้น ในสมรภูมิการเลือกตั้ง ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 นี้ จะมีแรงกดดัน หรือไม่ และอย่างไร รวมทั้งผลจากโพล จะสามารถชี้นำการตัดสินใจของประชาชน ในการเลือกผู้สมัคร และพรรคการเมืองได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน มีคำตอบ !

*การสำรวจความเห็นของโพล ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ต่อสู้กันรุนแรงจะมีผลต่อการทำงานของเราหรือไม่ อย่างไร

มีแน่นอน ใครพอใจผลโพลก็ชม ใครคะแนนตาม คะแนนน้อยก็บ่น ก็ว่า บางครั้งก็มีการกล่าวร้าย แต่เราไม่จำเป็นต้องแก้ เรารู้ดีว่าเราทำอะไรไป คนบางคนเขามีอคติ เขาก็จะมองเราในทางที่ไม่ดี พอคะแนนออกมาพ่ายแพ้ ก็ออกมาโวยวาย เป็นเรื่องธรรมดา

*จะทำอย่างไรเพื่อทำให้สาธารณะเชื่อมั่น ในการสำรวจ เพราะทุกการสำรวจมีผลบวกและลบ ต่อพรรคการเมือง

ผมไม่กังวลเรื่องความเชื่อมั่น เพราะผมมั่นใจว่ามีการทำโพล อย่างถูกต้องทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเข้าใจก่อนว่าการทำโพล ผู้เกี่ยวข้องมีพรรคในใจกันอยู่แล้ว รู้ตัวกันอยู่แล้ว ว่าจะเลือกใคร แต่ในจุดนี้งานคืองาน ต้องแยกทั้งสองอย่างให้ออก เพราะฉะนั้นผลโพลออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ต้องส่งออกไป คนที่ดูโพลส่วนใหญ่ เขาจะดูกันออก ว่าผลที่ออกมา สอดคล้องหรือไม่สอดคล้อง

*การวัดกระแสทั้งในส่วนของพรรคการเมือง และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ควรจะวัดช่วงไหน ก่อนวันเลือกตั้งกี่วัน

เราต้องทำตลอดเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่ ซึ่งการทำโพลเลือกตั้งเราจะไปปิดท้ายใน 3 พ.ค. 66 ซึ่งเป็นครั้งที่สาม และหลังจากนั้นเราจะไม่มีการแถลงผลโพลอะไรแล้ว แต่เราจะแถลงผลโพลอีกครั้ง หลังปิดหีบเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค. โดยการแถลงผลโพลในครั้งนั้น เราจะเน้นในพื้นที่ 33 เขต กรุงเทพมหานคร และจะประกาศด้วย ว่าใครได้เป็นส.ส.บ้าง

ในส่วนของผลการเลือกตั้งทั้งประเทศ เรากำลังพิจารณาอยู่ เนื่องจากเรา มีความกังวลในเรื่องของปัจจัยภายนอก ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคะแนน เพราะในการที่ใครจะชนะเลือกตั้งได้ ปัจจัยภายนอกคือสิ่งสำคัญ ได้แก่ 1.กระแสที่เกิดขั้นทั้งจากโพลสำนักต่างๆ ทั้งกระแสพรรค ตัวบุคคลและอื่นๆ 2.นโยบายพรรคที่ประกาศออกมานั้นจูงใจให้คนไปลงคะแนนเสียงหรือไม่

3.ลักษณะของตัวบุคคลที่ลงสมัคร ส.ส.ในแต่ละเขต เช่น สังกัดบ้านเล็ก บ้านใหญ่ เป็นดาวฤกษ์ เป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัดหรือไม่ และเป็นคนที่มีศักยภาพที่มีโอกาสจะชนะได้หรือไม่ และ 4.ทรัพยากรทางการเมือง ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อิทธิพลต่างๆ ที่จะทุ่มลงไปในการหาเสียง และจะผลรวมของทุกอย่าง เพื่อเอาไปใช้ในการวางกลยุทธ์เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง

ทั้งสี่ปัจจัยนี้ มีผลต่อการเลือกตั้งของทุกเขต แต่น้ำหนักไม่เท่ากัน ส่วนตัวมองว่าปัจจัยเหล่านี้ น่าจะมีอิทธิพลในเขตพื้นที่ไม่เกิน 40 เขต ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพกรุงเทพมหานครมี 33 เขต เมืองใหญ่ประมาณไม่เกิน 10 เขต ส่วนที่เหลืออีก 300 กว่าเขตทั่วประเทศ ปัจจัยที่จะส่งผล ส่วนใหญ่จะเป็นพฤติกรรมทางการเมือง แม้กระแสจะมีส่วน แต่น้ำหนักใหญ่ๆ น่าจะเทไปทางปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองมากกว่า ใน 360 เขตเลือกตั้งที่เหลือ

ฉะนั้นหากกล่าวว่า ถ้าโพลมาแบบนี้ ผลการเลือกตั้งก็ต้องเป็นแบบนี้หรือเปล่า ผมคิดว่าในเขตเลือกตั้งต่างจังหวัดไม่จำเป็น แต่ผมมั่นใจว่าในกรุงเทพมหานคร กระแสมีผล และผลโพลจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

*ปัจจัยภายนอกข้างต้นทั้ง 4 ข้อ หากเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ในปี 62 กับครั้งนี้ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมไม่ได้เป็นผอ. กลับมาเป็นผอ.อีกทีภายหลังเลือกตั้งแล้ว ครั้งนั้นนิด้าโพลไม่ได้โพลเลือกตั้งไว้ แต่เท่าที่ผมเห็น ครั้งที่แล้วการทำโพลจะเผชิญปัญหาอยู่สองจุด ปัญหาแรก คือเผชิญปัญหากับบางพรรคที่คะแนนความนิยมต่ำ แต่ได้เก้าอี้สส.เป็นจำนวนมาก ปัญหาที่สอง คือเผชิญปัญหาการเทคะแนนให้กัน ทำให้โพลที่คาดการณ์ไว้ ว่าพรรคหนึ่งจะคะแนนน้อย แต่กลับมีคะแนนสูง

แม้แต่ปัญหาภายนอกก็มีผลทำให้เกิดความผิดพลาด เช่น การเทคะแนนในช่วงไม่กี่วันการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งที่แล้ว นิด้าโพลเราได้ทำการเก็บผลใหม่ 2 วันก่อนการเลือกตั้ง ทำให้เราทราบว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และเราก็เดาได้ถูกต้อง ฉะนั้นในจุดนี้ ทำให้ผมมั่นใจ ว่าระบบการทำโพลของเรา จะไม่ผิดพลาดในสนามการเลือกตั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร

*การทำโพลจะมีผลต่อการชี้นำทางการเมือง ต่อการตัดสินใจของประชาชน มาก-น้อยเพียงใด และจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่

ถ้าถามว่าโพลมีผลต่อการตัดสินใจไหม ใครก็ตามที่บอกว่าไม่มี คนนั้นโกหก มี แต่คงมีไม่มาก ผมเคยทำโพลในเรื่องนี้มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ถามว่าโพลเลือกตั้งมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ ประมาณร้อยละ 10 บอกว่ามีผล และสามารถใช้โน้มน้าวการตัดสินใจได้

ส่วนจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไหม คิดว่าทุกคนน่าจะต้องใช้ ไม่ว่าจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง หรือใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และวิเคราะห์ในการปรับกลยุทธ์ทางการเมือง

ซึ่งจริงๆ เราหวังให้คนนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นคนแพ้หรือชนะก็เอาไปใช้ได้ เพียงแต่อย่าไปทำโพลปลอมขึ้นมา แล้วมาบอกว่าเป็นของนิด้าโพล กรณีนี้ผมต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวทันที หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราไม่ยอม

*ปัจจัยใดบ้างที่จะสามารถเปลี่ยนใจ กลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจ และแนวโน้มไปในทิศทางใด

หากดูให้ดี จะเห็นว่ากลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจมีน้อย มีเพียง 2% กว่า ซึ่งในความเป็นจริงผลโพลมีโอกาสที่จะบวกขึ้น 3 หรือลดลง 3 อยู่แล้ว แต่หากถามว่าแนวโน้มคนกลุ่มนี้ มีแนวโน้มจะเทคะแนนไปในทิศทางไหน โดยธรรมชาติแล้วเขาจะแบ่งไปแบบกระจาย แบ่งคะแนนไปพรรคนั้นบ้าง พรรคนี้บ้าง ไม่มีทางที่จะมารวมกัน ตัดสินใจเลือกพรรคเดียวกัน เหตุการณ์รูปแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

*มีการสำรวจความคิดเห็นของนิว โหวตเตอร์แล้วหรือไม่ และมีแนวโน้มไปในทิศทางใด

สำหรับนิว โหวตเตอร์ ตอนนี้ก็มีการเก็บข้อมูลแล้ว เราเก็บคะแนนตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเก็บข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะต้องขออนุญาตก่อนในการเก็บข้อมูล หากได้รับความยินยอมแล้ว จะทำการขอข้อมูลทั้ง อายุ เพศ ศาสนา ภูมิลำเนา อาชีพ การศึกษา แต่จะไม่มีการเก็บข้อมูลชื่อ เลขประจำตัวประชาชน มีเพียงเบอร์โทรศัพท์เก็บไว้ในฐานข้อมูลการติดต่อเพื่อทำโพล รวมไปถึงกลุ่มที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ที่ยังไม่สามารถโหวตได้ เราก็มีฐานข้อมูลไว้แล้วเช่นกัน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password