“วิษณุ” เห็นด้วยกกต.ส่งศาลรธน.ตีความสูตรคำนวณราษฎรรวมต่างด้าวหรือไม่ ?

“วิษณุ” ชี้เป็นเรื่องดี กกต. ส่งศาล รธน. ตีความสูตรคำนวณราษฎร นับรวมคนต่างด้าวหรือไม่ คลายข้อสงสัยสังคม เผยรัฐบาลยุบสภา แม้ศาล รธน. อยู่ระหว่างพิจารณา ขณะ “ศรีสุวรรณ” ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงศาล รธน. ตีความปมแบ่งเขตเลือกตั้ง นับราษฎรรวมต่างด้าวหรือไม่

วันที่ 14 ก.พ.2566 เวลา 13.24 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องการนำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดพึงมี และแบ่งเขตเลือกตั้ง หลังหลายฝ่ายมีความไม่สบายใจและมีความเห็นที่แตกต่างว่า ก็ดีจะได้รู้แล้วรู้รอด ส่วนจะทันเวลาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่คิดว่าน่าจะทัน เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

เมื่อถามว่าประเด็นดังกล่าวศาลจะรับพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นประเด็นสงสัยในอำนาจหน้าที่ ส่วนจะต้องใช้เวลากี่วันนั้น เมื่อส่งไปแล้วก็อย่าติดใจสงสัยว่าใช้เวลากี่วัน ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของศาล และต่อข้อถามว่าในเรื่องของการคำนวณควรจะนับรวมคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้แล้ว แต่มันเป็นปัญหาสงสัยในสังคมอยู่แล้ว เมื่อถามอีกว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถยุบสภาได้ในเดือน ก.พ. และต้องขยับไปเป็นกลางเดือน มี.ค. หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เคยบอกว่าจะยุบสภาในเดือน ก.พ.

เมื่อถามต่อว่าหากไม่ยุบสภาในช่วงเดือน ก.พ. กรอบเวลาของ กกต. เพียงพอหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นอำนาจของรัฐบาล แล้วแต่ และหากยุบสภาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาก็ทำได้ และการกำหนดวันเลือกตั้งตนไม่อยากพูด เดี๋ยวจะหาว่าเป็นการชี้ช่อง เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อประกาศแล้วสามารถเลื่อนได้ หากเกิดน้ำท่วมก็เลื่อนได้ หรือหากเกิดเหตุขัดข้องอื่นๆก็สามารถเลื่อนได้

เมื่อถามอีกว่าจะเป็นการถ่วงเวลาให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นการทำให้ล่าช้า แต่ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่เป็นการป้องกันเอาไว้ เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เข้าพบ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับเรื่องตำรวจ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุนสีเทาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าไม่เกี่ยวกัน ไม่มี ทั้งเรื่องนายพล จ. และสารวัตร ซ. ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้แจ้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปแล้ว เมื่อถามด้วยว่า กรณีดังกล่าวฝ่ายค้านเตรียมนำไปอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องทีมงานของนายกฯ ที่จะต้องเตรียมข้อมูลให้ แต่ขอให้รอโฆษกรัฐบาลเป็นผู้แถลงชี้แจงเรื่องดังกล่าว

ส่วนที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเพื่อการบริหารงาน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนับรวมคนต่างด้าวด้วยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 ม.86 ประกอบการแก้ไข ม.26 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ว่าการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น หมายความรวมถึงจำนวนราษฎรผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือหมายความรวมถึงราษฎรที่เป็นคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ อย่างไร ซึ่งความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจาก กกต. อ้างว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรวมทั้งคนไทยและคนต่างด้าว

ในขณะที่นายวิษณุให้ความเห็นว่า ควรนับรวมเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การเลือกตั้งโมฆะ แบบที่เคยเกิดเมื่อปี 49 กรณีศาลรัฐธรรมนูญอ้างเหตุผลเรื่องการจัดคูหาเลือกตั้ง เป็นผลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบมาแล้ว และเป็นผลให้ กกต. ต้องโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามที่กฎหมายบัญญัติมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหากันในอนาคต สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้นำความมาร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ใช้อำนาจตาม มาตรา 230 ประกอบ มาตรา 231(1) ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาวินิจฉัยเป็นการเร่งด่วนต่อไป

เมื่อถามว่าทาง กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความในเรื่องดังกล่าวแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการต่อหรือไม่ นายปิยะ กล่าวว่า ต้องดูว่าประเด็นดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะสามารถส่งเรื่องนี้ได้หรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไของค์ประกอบผู้ตรวจก็อาจจะส่งศาลรัฐธรรมนูญแต่พิจารณาแล้วไม่เข้าเงื่อนไขก็จะไม่ส่ง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password