‘ศรีสุวรรณ’ โผล่! DSI จี้สอบ ‘กฟภ.- ก.แรงงาน’ ฮั้วประมูลงาน 1.4 หมื่นลบ.

“ศรีสุวรรณ จรรยา” บุกดีเอสไอ ตรวจสอบ 2 โครงการ กฟภ.มูลค่าเกือบ 6 พันล้านและ ก.แรงงานอีก 1 โครงการ มูลค่า 7,950 ล้านบาท อาจเข้าข่ายฮั้วประมูล
วันนี้ (13 พ.ค.68) เวลา 10.00 น. ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมา ยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดี DSI และ รมว.กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการจ้างจัดหา พัฒนา ติดตั้ง และดูแลบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า (Utility Platform UTP) และระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning : ERP) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งทั้งสองโครงการมีการ ใช้งบประมาณมากถึง 5,927 ล้านบาท ส่วนอีกโครงการเป็นการ จ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอ และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) งบประมาณ 7,950 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการ UTP และ ERP ของ กฟภ.เป็นโครงการสำหรับให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ ที่ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยทั้งสองโครงการดังกล่าว ต้นทุนจริงๆ ไม่ควรเกิน 4,500 ล้าน แต่ไปล๊อก Software เบ่งราคาไปเกือบ 6,000 ล้าน โดยอาจมีการฮั้วกันทำราคากลางกันเพื่อกันเป็นเงินทอนหรือนำเงินทอนตอบแทนพรรคการเมืองหรือไม่? แต่ต้องผลักภาระต้นทุนมาอยู่ในค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าจากคนไทยทั้งประเทศ โดยมาแอบซ้อนไว้ในต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และมาเก็บเงินกับประชาชนในทุกบิลค่าไฟฟ้านั่นเอง
ส่วนโครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอ และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนงานเพื่อให้บริการตามขอบเขตของงาน(TOR) แต่ปรากฏว่า เมื่อครบกำหนดสัญญา ณ วันที่ 14 ก.พ.68 ที่ผ่านมา บริษัทผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานให้ได้ตามสัญญา แต่มีการช่วยเหลือบริษัทเอกชนรายดังกล่าว โดยการขยายเวลาในการส่งมอบงานออกไปอีก 100 วัน กระทั่งบัดนี้ บริษัทผู้รับจ้างก็ยังไม่สามารถส่งมอบงานได้ ซึ่งต้องเสียค่าปรับให้รัฐไม่ต่ำกว่า 270 ล้านบาท แต่กรมการจัดหางาน ก.แรงงาน กลับไม่ดำเนินการปรับเงินดังกล่าวแต่อย่างใดอันเป็นข้อพิรุธ
อย่างไรก็ตาม โครงการทั้ง 3 มีข้อสงสัยว่าอาจมีการฮั้วกันหรือไม่? มีกระบวนการสมคบกันเพื่อจะกีดกันไม่ให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาประมูลหรือไม่ มีการล๊อดสเปกเพื่อเอื้อให้เอกชนบางรายเป็นการเฉพาะหรือไม่? และบางโครงการไม่สามารถดำเนินการตาม TOR ได้และไม่มีการเรียกค่าปรับเข้ารัฐ ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย จึงอาจเข้าข่ายการทุจริต การฮั้วประมูล ตามมาตรา 26 ของพรบ.ว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2560 ประกอบกฎหมายว่าด้วยการจัดซ้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
“องค์กรรักชาติรักแผ่นดิน จึงนำความพร้อมพยานหลักฐานมาร้องเรียนต่อ DSI ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป” นายศรีสุวรรณ กล่าว.