เปิดแผน! กลยุทธ์ “แยกกันเดิน รวมกันตี” รวมทั้ง “ตกปลาในบ่อเพื่อน” จุดแข็ง “พี่น้อง2ป.”

สถานการณ์ ทางการเมืองไทย เ ริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สำหรับยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินรวมกันตี” ของพี่น้อง 2 ป. เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรและการจัดทัพไปต่อกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นั่งเก้าอี้ เป็นหัวหน้าพรร

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงเป็นผู้นำพรรค พปชร. สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าเหมือนเดิม แม้จะเจอกับแรงเสียดทาน เมื่อกระแสความนิยมในทางการเมืองที่มีต่อตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในเกณฑ์ที่ขายได้ ตามติดตัว “บิ๊กตู่” ไปยังพรรคใหม่ด้วย

กระแสความนิยมของ “บิ๊กตู่” และ พรรค รทสช. ในตลาดการเมืองจึงยังดูมีภาษีดีกว่าพรรค พปชร. ที่ยังต้องหาจุดขายให้โดนใจประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า และ เนื่องจากพรรค รทสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นจุดขายนั้น ต้องเร่งสร้างความพร้อมทั้งตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มีฐานเสียงและคะแนนนิยมในตัวเอง ที่หากจะส่งลงรับเลือกตั้ง ต้องหวังผลได้ว่าจะได้รับเลือกตั้ง มาเพิ่มที่นั่งให้กับพรรค

ดังนั้น “กลยุทธ์การตกปลาในบ่อเพื่อน” จึงมีความจำเป็น ทั้งการเจรจา ดึงตัว ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะ ใน พรรค พปชร. ในพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพฯ ที่อาศัยกระแสความนิยม ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

จึงเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด ในการเตรียมพร้อมผู้สมัคร ส.ส. ให้ทันต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า !!!

ส่วนกติกาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ อย่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบโดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ไม่มีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ขั้นตอนต่อไปคือกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อรอประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค หารด้วย 100 คือ นำคะแนนรวมที่เป็นบัตรดีของทุกพรรค หารด้วย 100 คน ดับฝัน “พรรคเล็ก” ที่อาศัยเทคนิคการคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสมปัดเศษคะแนนเพียงแค่ 3-4 หมื่นเสียง ก็ได้นั่ง ส.ส.แล้ว

หากนำผลการเลือกตั้งปี 2562 ที่ทุกพรรคมีคะแนนรวมกัน 35,561,556 คะแนน ใช้สูตรหารหนึ่งร้อย จะได้ค่าเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน คือ 355,615 คะแนน ซึ่ง จะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงเข้มแข็งทั้งตัว ส.ส.เขต และ ความนิยมของพรรค อย่าง พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ออกมาตรงกันว่าจะได้เปรียบสูงสุดกับ กติกาการเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หารด้วย 100 คน ซึ่งปรากฏผ่านผลการเลือกตั้ง ตั้งแต่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทย ที่ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เป็นอันดับหนึ่ง มีความชอบธรรมรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเอกฉันท์

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งพรรคที่จะมองข้ามไปไม่ได้ นั่นคือ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ร่างใหม่ของอดีต พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ชนิดหักปากกาเซียนการเมืองมาแล้ว กับผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ชนะได้ ส.ส.มาถึง 81 เสียง และด้วยชุดนโยบายที่ชูความก้าวหน้า แก้ความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างใหญ่

รวมทั้งการเดินหน้าทำงานการเมืองที่มีจุดยืนและอุดมการณ์ชัดเจน ตรงใจกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่ม “นิวโหวตเตอร์” ที่มีสัดส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยให้ พรรค กก้าวไกล มีเสียง ส.ส.และอยู่ในสมการทางการเมืองหลังการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

ขณะที่ปัจจัยแทรกซ้อนที่จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญต่อการชี้ขาดผลการเลือกตั้งและสมการทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ คดีความกับระดับคีย์แมน ทางการเมืองของแต่ละพรรคเกี่ยวข้อง อย่างคดี ทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ที่มีข่าวว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วางไทม์ไลน์เตรียมจะชี้มูลความผิดระดับ “บิ๊กเนม” ทางการเมืองของพรรค พท.ในห้วงปลายนี้

นอกจากนี้ ยังมีคำร้องยื่นยุบพรรค ก้าวไกล ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และยังมีคำร้องให้ตรวจสอบเงินบริจาค 3 ล้านบาท จาก “ตู้ ห่าว” นายทุนจีนธุรกิจสีเทา ที่ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ออกมาแฉว่า มีความสัมพันธ์ กับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ” โดยเป็นเงินบริจาคให้กับ พรรค พปชร. ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กกต.เช่นเดียวกัน หากมีการตัดสินคดีใดคดีหนึ่งย่อมส่งผลต่อทิศทางและสมการการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งได้

แม้กติกาในการเลือกตั้งที่ออกมาดูแล้วจะเอื้อต่อพรรคการเมืองใหญ่ ขณะที่กลุ่มผู้มีอำนาจเดิม ต่างมีความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า กติกาว่าด้วยการเลือกตั้งดังกล่าวจะช่วยให้ ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินร่วมกันตี” คือ สามารถรวมเสียง ส.ส.ของพรรคเครือข่ายของ 2 ป. มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง ด้วยต้นทุนที่มีอยู่ในมือ คือ 250 ส.ว. ที่รอพร้อมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากกลุ่มอำนาจเดิม รอเพียงแค่ตัวเลขเสียง ส.ส.ที่จับต้องได้จริงว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กลุ่มอำนาจเก่าฝันไว้หรือไม่

ทั้งหมด จะมีเสียงสวรรค์ของ ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นตัวตัดสิน ชี้ชะตาการเมืองไทย !!!!

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password