นายกฯสั่งการ ‘พาณิชย์’ เร่งสอบกลุ่มเสี่ยงนอมินี – ‘พิชัย’ ปรับโครงการบอร์ด ดึง ‘มือดี’ เพิ่ม! รุกสกัดสินค้าไร้มาตรฐานทั่วไทย

กระทรวงพาณิชย์รับลูก “ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี” เดินหน้าเร่งแก้ปัญหาสินค้านำเข้าไร้มาตรฐานและธุรกิจต่างชาติฝ่าฝืนกฎหมาย “พิชัย นริพทะพันธุ์” สั่งปรับเพิ่มโครงสร้างคณะกรรมการทุกระดับ ดึง “สุชาติ ชมกลิ่น – พล.ต.ท. พิทยา ศิริรักษ์” ร่วมทีมฯ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เผยรอบนี้แต่งตั้งที่ปรึกษาและรองประธานในคณะอนุกรรมการ รวมถึงคณะทำงาน พร้อมติดตามผลการดำเนินการเชิงรุกทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (21 พ.ค.2568) ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็น ประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5 (3/2568) โดยมี วาระสำคัญเพื่อแจ้งข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จากข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2568 และการประชุมหัวหน้าส่วนราชการเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2568 มีสาระสำคัญเน้นย้ำการเข้มงวดกับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การดำเนินธุรกิจแบบนอมินี การขายสินค้าต่างชาติผิดกฎหมายทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ และการส่งเสริมให้เกิดการใช้แรงงานไทยและวัตถุดิบในประเทศ พร้อมผลักดันให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่

โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินคดีกับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานและผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 39,186 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2,074 ล้านบาท และสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่ต่ำกว่า 1,500 บาทได้ถึง 1,796 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้ ดำเนินมาตรการ Notice and Takedown ถอดสินค้าผิดกฎหมายจากแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วกว่า 10,378 รายการ ส่วนการปราบปรามธุรกิจนอมินีมีการดำเนินคดีรวม 857 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 15,288 ล้านบาท

เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน ที่ประชุมฯ จึงมีมติเห็นชอบการแต่งตั้ง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ และ พล.ต.ท. พิทยา ศิริรักษ์ เป็นที่ปรึกษาเพิ่มเติมใน 2 คณะอนุกรรมการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทย และแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ใ นส่วนของปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาเพิ่มเติม ที่มี นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธานที่ปรึกษาคณะทำงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ และ พล.ต.ท. พิทยา ศิริรักษ์ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน และ แต่งตั้งรองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นรองประธานเพิ่มเติมในคณะทำงานฯ เพื่อสนับสนุน การทำงานเชิงรุกและลงพื้นที่ทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มหน่วยงานในคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติ

ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างมาก และได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยเน้นการทำงานเชิงรุก (Proactive) แก้ไขปัญหาล่วงหน้า เพราะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก มีความเสี่ยงสูงที่สินค้าผิดกฎหมายและไม่มีคุณภาพจะทะลักเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการทุกมาตรการที่จำเป็น โดยเฉพาะในประเด็นสินค้าที่ขายในประเทศจะต้องระบุแหล่งที่มาของสินค้า และมีการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่ง คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็จะเข้ามาบูรณาการใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมด้วยอย่างจริงจัง พร้อมเร่งรัดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นายพิชัย กล่าว

ด้าน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาสินค้านำเข้าและธุรกิจนอมินีสะสมในประเทศไทยมายาวนานกว่า 10 ปี สาเหตุหลักมาจากกฎหมายไทยที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าโลก และไม่สามารถเอาผิดกับบริษัทที่ใช้คนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ จะมุ่งล้างปัญหานอมินีเดิม โดยแบ่งกลุ่มบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นตั้งแต่ 0.01 – 49.99% ออกเป็น 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.อสังหาริมทรัพย์ 3.อีคอมเมิร์ซ ขนส่ง และคลังสินค้า 4. โรงแรมและรีสอร์ท 5.การเกษตร และ6.การก่อสร้าง

จากข้อมูลพบว่า มีบริษัทกลุ่มเสี่ยงกว่า 46,918 ราย โดยจะจัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นในทุกจังหวัด ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธาน และมีพาณิชย์จังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มงวด ทั้งที่มาของเงินทุน ความสามารถในการประกอบธุรกิจ และความเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติ และสำหรับบริษัทใหม่ที่จดทะเบียนในอนาคต จะมีการเสนอปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษต่อธุรกิจนอมินีถึงขั้นยึดทรัพย์ และจะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อผลักดันเข้าสู่รัฐสภาโดยเร็ว รวมถึงประสานในทุกวาระ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปอย่างจริงจังและเชิงรุก โดยให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตรวจสอบบริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และในจังหวัดที่มีบริษัทที่อยู่ในข่ายเป็นจำนวนมากจะให้รายงานผลความคืบหน้าเป็นไตรมาส ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password