ดัชนี ‘อุบัติเหตุ – ความตาย’ ใช้ชี้วัดผลงานรัฐบาลได้ไหม?

หยุด! กระแสร้อนๆ ในแวดวงการเมืองไทยไว้ชั่วคราว ท่ามกลางสายน้ำที่สาดใส่กัน ประหนึ่ง…สงครามแห่งความสุข ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คน ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ออกมารวมตัวกันนับหลายสิบล้านคน กระจายตัวไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ในห้วงเทศกาลกรานต์ที่มีวันหยุดกันยาวๆ ของทุกปี
เมื่อกว่า 1 ปีก่อนหน้านี้ (6 ธ.ค.2566) ยูเนสโก้ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ( Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”
ยิ่งทำให้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ อยากจะเข้ามาสัมผัสกับมรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีที่สำคัญของไทย ที่แสดงออกถึงบทบาทอันแข็งขันของชุมชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษา ประเพณีดังกล่าวไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย
ปี 2568 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดหมายจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 4.7 แสนคน สร้างเม็ดเงินรายได้ไม่น้อยกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
ถือเป็นห้วง “เวลาทองคำ” ของภาคธุรกิจและร้านรวงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย
แน่นอนว่า…ร้านสะดวกซื้ออันดับ 1 ของไทย อย่าง…เซเว่น อีเลฟเวน ที่มีจำนวนสาขาทั่วประเทศมากกว่า 1.52 หมื่นสาขา (ข้อมูลจาก บมจ.ซีพี ออลล์ ณ เดือน ก.พ.2568) คือ อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและคนไทยที่อยากจะฝากท้องในเวลาหิว และหลบเข้าไปรับไอเย็นในยามอากาศภายนอกช่างร้อนระอุ
พูดได้ว่า…ร้านเซเว่นฯ คือ อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ “ร้านสะดวกซื้อสไตล์ไทยๆ” ที่คอยต้อนรับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ตลอด 24 ชม. ในทุกๆ วัน โดยไม่มีวันหยุดพัก แม้แต่สักวันเดียว
ถือ…เป็นหน้าเป็นตา และเป็นตัวแทนคนไทย ในฐานะ “เจ้าบ้านที่ดี…คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว” แบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ทำดีก็ต้องชม! ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานร้านเซเว่นฯ ที่มีรวมกันราว 2 แสนคนไปในคราวเดียวกันเลย
พูดได้ว่า…นอกจาก สตรีทฟู้ดส์ “อาหารไทย” ที่ปรุงกันแบบสดใหม่ กระจายในหลายพื้นที่ ทั่วทุกหัวระแหงตามตรอกซอกซอยและท้องถนนทั่วไปแล้ว ก็มี ร้านเซเว่นฯ นั่นแหละ ที่สามารถทดแทนและชดเชยในยามที่ ร้านสตรีทฟู้ดส์ “อาหารไทย” ปิดให้บริการ
ซึ่งนั่น ทำให้ทุกความต้องการของนักท่องเที่ยว ไปจบกันที่ร้านเซเว่นฯ นั่นเอง
รายได้แต่ละปีของ ร้านสะดวกซื้ออันดับหนึ่งของไทย อย่าง…ร้านเซเว่นฯ ณ สิ้นปี 2567 พบว่า…มีมากถึง 987,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% คิดเป็นกำไรสุทธิที่ 25,346 ล้านบาท ขยายตัว 37.1%
แน่นอนว่า…รายได้เยอะ กำไรมาก ย่อมต้องเสียภาษีเข้ารัฐ เพื่อให้รัฐนำกลับมาพัฒนาประเทศ สูงตามไปด้วยเช่นกัน!!!
กลับมาที่ งานเทศกาลสงกรานต์! หลายพื้นที่ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ก็มีหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวได้ไปจับจองเข้าร่วมงานกันมากมาย โดยเฉพาะกับ กิจกรรมหลัก ที่ ททท. เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ในชื่องาน “Maha Songkran World Water Festival 2025” ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11 – 15 เม.ย.2568
และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่จัดงาน ไม่ว่าจะเป็น…ดิ ไอคอน สยาม, เซ็นทรัลเวิร์ล, สยามสแควร์, ถนนข้าวสาร, ถนนสีลม ฯลฯ
ในต่างจังหวัดก็มีการจัดงานใหญ่ประจำปี ที่จัดได้ยิ่งใหญ่ ตระการตาได้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ ที่ จ.เชียงใหม่ จ.ภูเก็ต จ.สงขลา (หาดใหญ่) วันไหล…เมืองพัทยา สงกรานต์มอญแห่งเมืองพระประแดง จ.สมุทรปราการ รวมถึงอีกหลายๆ จังหวัดในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคอื่นๆ ของไทย
ทุกปี…หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย ที่ต่างก็ออกเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในต่างถิ่นช่วงวันหยุดยาว…เทศกาลสงกรานต์ ต่างก็บูรณาการในทำงานร่วมกัน เพื่อลดอุบัติภัยและเหตุร้ายในห้วง 7 วันอันตราย
ก่อนหน้านี้ (11) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งจะเดินทางไป ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมด้านการจราจรในการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้กับประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ ศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุ กรมทางหลวง
ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันนี้ (12) นายกฯแพทองธาร ได้กล่าวอวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ความว่า…
“ในโอกาสวันสงกรานต์ ดิฉันขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลที่ทุกท่านเคารพนับถือ ดลบันดาลประทานพรให้พี่น้องคนไทยทุกคน พร้อมทั้งครอบครัว มีความสุข ความเจริญ และมีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป เดินทางปลอดภัย เติมพลังใจ ใช้เวลากับครอบครัว เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ”
กระนั้น หากนับ 2 ใน 7 วันอันตรายที่เพิ่งผ่านพ้นได้ยังไม่ครบวันที่ 2 ดี กลับมีรายงานของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดย นายโอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 12 เม.ย. ระบุว่า…
เฉพาะ 11 เม.ย. ซึ่งเป็น วันแรกของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ฯ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า…เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 201 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.76 ตัดหน้ากระชั้นชิด 24.64 และดื่มแล้วขับ 22.75 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.64 โดย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (12 คน) ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่กรุงเทพมหานคร (5 ราย)
ย้ำเตือนให้เฝ้าระวังกันขนาดนี้ ยอดการเกิดอุบัติ ยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย
หรือในทุกๆ เทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ และปีใหม่ ที่มีวันหยุดยาวๆ เป็นช่วงที่คนไทยต้องดื่มกิน ต้องขับขี่ยวดยานพาหนะ และต้องเดินทางใกล้ไกล คือ ห้วงเวลา “ลดประชากร” จนกลายเป็นเรื่องปกติกันไป
หากรัฐบาลจะใช้ มาตรวัด “อุบัติเหตุและความตาย” เป็น…ดัชนีชี้วัด (KPI) ผลงานของตัวเอง ได้บ้าง…ก็น่าจะดีเหมือนกัน
ลดอุบัติหตุและความตายของคนในชาติไม่ได้ ก็ลาโรงกันไปได้เลย!!!.