DSI ทำคดีพิเศษ ‘ตึก สตง.ถล่ม’ ชี้! ใช้ ‘นอมินี’ เท่ากับ ‘นิติบุคคลต่างด้าว’ ห้ามรับทำธุรกิจก่อสร้างในไทย   

แจง “ดีเอสไอ” รับคดี “ตึก สตง. ถล่ม!” เป็นคดีพิเศษแล้ว เผย! พบพฤติการณ์ใช้นอมินีจริง พร้อมขยายผลความผิดอื่น ทั้งฮั้วประมูลและสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ด้าน อธิบดีฯยุทธนา ระบุ! ไชน่า เรลเวย์ฯ ส่อใช้นอมินีถือหุ้นแทน สะท้อนความเป็น “นิติบุคคลต่างด้าว” ห้ามทำธุรกิจการก่อสร้างในไทย ยัน 3 คนไทยถือหุ้นอีกหลายบริษัท แบบไม่ตรงปก! ฐานะแท้จริง

วันนี้ (2 เม.ย.2568) ที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งพิจารณาคดีอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่ม! เป็นคดีพิเศษ ซึ่งเบื้องต้นพบว่า เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี), พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล) ซึ่งมี ประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดฯ

“ขณะนี้ทาง ดีเอสไอ ได้รับคดี อาคาร สตง. ถล่มพังเสียหายในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้อำนาจของอธิบดีดีเอสไอ เป็นความผิดท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ในการพิจารณา และจากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า บริษัทดังกล่าวมีพฤติกรรมการเป็นนอมินี ซึ่งปกติบริษัทชาวต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะต้องมีการแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์ให้คนไทย 51% และเป็นต่างชาติ 49% พ.ต.อ.ทวี กล่าวและว่า…

ดีเอสไอตรวจสอบและพบว่ามีหลักฐานมากพอที่จะสามารถเชื่อได้ว่าบริษัทแห่งนี้เข้าข่ายการเป็นนอมินี ประกอบกับมีความเสียหายมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ถือได้ว่าเข้าข่ายการเป็นคดีพิเศษ และนอกจากความผิดที่มีการรับเป็นนอมินีแล้ว ก็จะมีการขยายผลในคดีเรื่องสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพของ มอก. ส่วนการฮั้วประมูลและการดูคุณภาพเนื้องานก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้ตึกถล่มลงมาหรือไม่ จากนี้ทาง ดีเอสไอ ก็จะมีการเชิญหน่วยงานนอก เช่น สรรพากร กระทรวงอุตสาหกรรม มาร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ตนเองไม่ได้รู้สึกถึงความกังวล ในการสอบสวนคดีนี้ถึงแม้ว่า บริษัทดังกล่าวจะเป็นบริษัทวิสาหกิจของประเทศจีน ขอยืนยันว่าจะดำเนินการให้โปร่งใสมากที่สุดถึงแม้ว่าจะเป็นใครก็ตาม และจะมีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงโครงการอีก 10 โครงการ ที่ได้รับการประมูลไปจากทางภาครัฐ รวมไปถึงรายละเอียดเรื่องวิศวกรที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ใช้วีซ่านักศึกษาเข้ามาทำงานด้วย นอกจากบริษัทนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำการตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ที่มีลักษณะการร่วมทุนของชาวต่างชาติ ทั่วประเทศ ว่ามีบริษัทใดบ้างที่มีพฤติกรรมการรับเป็นนอมินี เพื่อที่จะขยายผลและดำเนินคดีนี้

บ่ายวันเดียวกัน ณ บริเวณหน้าห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดี ดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภคและโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า ภายหลังจากเมื่อวานนี้ (1 เม.ย.) ที่มีการประชุมมอบหมายภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง กรณีอาคาร สตง.ที่กำลังก่อสร้างถล่ม ขณะนี้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะรับคดีพิเศษ ในประเด็นเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เนื่องจากพบข้อเท็จจริงว่า กรรมการของนิติบุคคลของบริษัท china railway number 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีการจดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้าฯ กับนิติบุคคลของประเทศไทย ในนามกิจการร่วมค้า itd-crec และเข้าเป็นคู่สัญญาในการก่อสร้าง นั้น มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้น ร้อยละ 51

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า บุคคลสัญชาติไทยดังกล่าวจำนวน 3 คน มีการเข้าไปเป็นกรรมการและถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ร้อยละ 51 ร่วมกับนิติบุคคลต่างชาติอีกเป็นจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน จึงมีเหตุจำเป็นต้องทำการสอบสวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณีถือหุ้นหรือทุนแทนนิติบุคคลต่างชาติ ซึ่งจะทำให้นิติบุคคลดังกล่าวมีฐานะเป็นคนต่างด้าว ตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งมีบทบัญญัติ ห้ามดำเนินธุรกิจการก่อสร้าง

รวมทั้ง ขยายผลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ว่าเข้าข่ายความผิดทำให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม และมีการนำวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาใช้ในการดำเนินการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะมีการประชุมกำหนดแนวทางและประเด็นการสอบสวนโดยด่วนต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password