นายกฯถกเครียดเหตุ ‘แผ่นดินไหว – ตึกถล่ม!’ ชี้เหตุเกิดบนบก ไร้เสี่ยงคลื่นยักษ์สึนามิ

นายกฯแพทองธาร บินด่วน! ร่วมถก “ครม.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง” รับมือเหตุแผ่นดินไหว หลังช็อกโลก ตึกสร้างใหม่ของ สตง. ถล่ม! มั่นใจตึกสูงในกรุงเทพฯ “เอาอยู่” แผ่นดินไหวระดับ 4.9 ริกเตอร์ ส่วนระบบรถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน พรุ่งนี้เข้าสู่เหตุการณ์ปกติ ระบุ! เป็นแผ่นดินบนบก ไม่เสี่ยงเรื่องคลื่นยักษ์สีนามิถล่มซ้ำแน่!

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว ร่วมกับ คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง หลังบินด่วนกลับจากจังหวัดภูเก็ต ก่อนแถลงผลประชุม เมื่อเวลา 18.00 น. ว่า ได้รับรายงานจากทุกฝ่ายถึงสถานการณ์ถึงเริ่มคลี่คลายแล้ว อยากจะบอกประชาชนว่าตอนนี้ตึกที่ได้รับความเสียหายคือตึกที่ก่อสร้าง และได้คุยกับทางวิศวกรกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้บอกว่าเรื่องของตึกต่าง ๆ ในกรุงเทพฯถือว่าสร้างได้มาตรฐาน หากมีแผ่นดินไหวที่แรงกว่านี้ยังสามารถรับได้ ซึ่งได้มีการตรวจความพร้อมและความเสียหายกันแล้ว โดยตอนนี้ ผู้พักอาศัยสามารถกลับเข้าที่พักได้แล้ว

ตึกที่มีปัญหาคือตึกที่กำลังก่อสร้าง เพราะมีเรื่องความแข็งแรงและตัวของผนัง ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานจาก อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ถึงเหตุศูนย์กลางที่เกิดขึ้นอยู่บริเวณทะเลเมียนมา ซึ่งมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นหลายรอบตามติดกันมาประมาณ 12 ครั้ง โดยมีความแรงตอนได้อยู่ที่ 7.2 ริกเตอร์ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับประชาชนชาวไทย ทั้งภาคเหนือและกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับรายงานปัจจุบันความแรงลดลงเหลืออยู่ที่ 4.9 ริกเตอร์ สามารถกลับเข้าตัวตึกอาคารสูงได้แล้ว  และขอย้ำว่าเป็นการเกิดแผ่นดินไหวบนบก ไม่ได้เกิดบนทะเล ดังนั้นจึงไม่มีการเกิดสึนามิแน่นอน

นอกจากนี้ ตนยังได้รับรายงานจาก ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ถึงเหตุอาคารก่อสร้างในพื้นที่เขตจตุจักรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ถือเป็นจุดเดียวที่ได้รับผลกระทบเสียหาย ยืนยันว่าความเสียหายรุนแรงมีจำกัดแค่อาคารก่อสร้างเท่านั้น ส่วนเรื่องการเดินทางรถไฟฟ้าใต้ดินตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบความปลอดภัย คาดว่าจะกลับมาให้บริการได้อีกทีในตอนเช้า เท่าที่เห็นด้วยตาเปล่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในรถไฟฟ้า BTS และรถใต้ดิน MRT โดยตอนนี้รอว่าตรวจให้แน่ชัดอีกทีว่ามีอะไรเสียหายหรือไม่ ตอนเช้าคิดว่าทุกอย่างจะกลับเป็นปกติอย่างแน่นอนโดยกระทรวงคมนาคมได้มีการจัดบริการรถเมล์รถสาธารณะพร้อมให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ตอนนี้จนถึงเช้า ฉะนั้นกลางคืนในรอบรถเมล์รถโดยสารรถประจำทางต่างๆจะมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งในตอนนี้จนถึงเช้า ซึ่งรถเมล์รถโดยสารประจำทางต่าง ๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้น

จากนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปดูพื้นที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยที่ นายกฯรับฟังสถานการณ์ด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึม พร้อมกำชับผู้ปฏิบัติงานทุกคนให้ระมัดระวังความปลอดภัยของตัวเองในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป็นห่วงเกรงว่าซากที่พังลงมา และบางส่วนอาจจะถล่มลงมาได้อีก

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ฐานะ ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ลงนาม ประกาศกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เรื่อง ยกระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) โดยมีรายละเอียดดังนี้ ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวบนบก บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กิโลเมตร ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร พี่ละติจูด 21.682 องศาเหนือ และลองจิจูด 96.121 องศาตะวันออก บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กิโลเมตร เมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 เบื้องต้นได้รับความรู้สึกสั่นไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ และสถานการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรง สร้างความเสียหายและก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2550 ประกอบแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 จึงมีประกาศ ดังนี้

1.ยกระดับการจัดการสาธารณภัย เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570

2.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนอำนวยการ ประสานการปฏิบัติ ประเมินการณ์ ติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์สถานการณ์ รายงาน และเสนอความคิดเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการเชิงนโยบาย โดยมี อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะผู้อำนวยการกลางเป็นผู้ช่วย

3.จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ขึ้น ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

4.กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จัดตั้งส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ตามที่ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเห็นสมควร และให้ประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย โดยมีหน่วยงานตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธาธารณภัยแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนจิตอาสา เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆ โดยเร็ว และเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลาย จะเร่งสำรวจความเสียหายในด้านต่างๆ อาทิ ด้านชีวิตด้านที่อยู่อาศัยด้านการประกอบอาชีพ สิ่งสาธารณประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น เพื่อทำการฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password