นั่งภู! ดู ‘สามก๊ก’ กัดกัน สุดท้าย…‘เกมแก้ รธน.’ ก็เข้าสู่อีหรอบเดิม

ฮึๆ! ล่มเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน สำหรับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวดมาตรา 15/1
ลื่อสนั่น! คนระดับ ประมุขแห่งวุฒิสภา ทั้ง 3 ราย ไม่ยอมแสดงตน ร่วมกับอีก 168 สว.
ขณะที่ ฟาก สส.ฝั่งรัฐบาล เอง ไม่ว่าจะเป็น พรรคแกนหลัก…แกนรอง รวมถึงพรรคอันดับต่อท้ายตามกัน ล้วนไม่แสดงตน จนเมื่อมีการนับองค์ประชุม ก็เรียบร้อยโรงเรียนแมวไปตามๆ กัน
เรื่องนี้ แม้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ภายหลังลงจากตึกไทยคู่ฟ้า เพราะต้องหารือกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นานถึง 1 ชั่วโมง ทำนอง…
ตนและนายกรัฐมนตรีเข้าใจตรงกัน เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร เรื่องของการเสนอกฎหมายของพรรคการเมืองตรงเข้าสู่สภา ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล
2 หัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล จึงไม่จำเป็นจะต้องเคลียร์ใจอะไรกัน ตามที่สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกต
สาระสำคัญหลักๆ ที่ตนหารือกับนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องการ จัดดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากไม่ได้จัดกิจกรรมนี้มานาน 4-5 เดือนแล้ว และรอบนี้เป็นคิวของพรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้าภาพ
“ทางผมได้เรียนให้ท่านนายกฯทราบถึงการนัดหมายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ แต่เรื่องของสถานที่สำหรับการนัดพบ ขอให้นายกฯ เป็นตนกำหนด เพื่อที่นายกฯ กําหนดว่าจะเชิญใครมาบ้าง” นายอนุทิน ระบุ
เรื่องนัดหมายดินเนอร์ของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็สำคัญ แต่คงไม่สำคัญเท่ากับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ล่มมา 2 วันติด! ซึ่ง หัวหน้าพรรคภูมิใจ อ้างคำพูดของ นายกฯแพทองธาร ทำนอง…
“ฝั่งรัฐบาลไม่มีความวุ่นวาย นายกฯ เข้าใจว่าเป็นความวุ่นวายของสภา และไม่มีความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกฯ ยังบอกว่า อีกหน่อยต้องพูดคุยกันบ่อยกว่านี้หน่อย ซึ่ผมได้แจ้งกับนายกฯ ไปว่า เพิ่งทราบว่ามีร่างประกบตอนที่ วาระการประชุมออกมาแล้ว…”
กับคำถามที่ผู้สื่อข่าวถามว่า…การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่เมื่อสภาฯล่มทำให้ช้ากว่าเดิม กรณีนี้ นายอนุทิน ระบุว่า ถ้ามีการหารือ ก็ต้องหาช่องทางที่ทุกคนสบายใจเข้าไปพิจารณา แต่หากมีการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ก็ตีความได้ว่าขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเกิดความไม่สบายใจ ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส. แต่ ส.ว.ด้วย ก็ต้องหาทางเข้าสู่สภาให้ได้ หากเขาบอกต้องทำประชามติ ก็ต้องทํา แบบนั้นทุกคนก็ไม่มีข้อแก้ตัว
เรื่องนี้ ลองไปฟัง สว.เสียงข้างน้อย อย่าง…นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ผู้เสนอญัตติที่ให้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กล่าวถึงการที่รัฐสภาล่มเป็นวันที่ 2 ว่า…มันสะท้อนภาพการเมืองแบบสามก๊กได้ชัดเจนมาก แต่ละก๊ก ไม่ว่าจะเป็นแดง ส้ม หรือน้ำเงิน ต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน จึงหาจุดลงตัวร่วมกันยาก
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ต้องอาศัยความพร้อมใจของทุกฝ่ายจะเพียงก๊กใดก๊กหนึ่ง หรือเพียง 2 ก๊กทำไม่สำเร็จ ฉะนั้น จึงเป็นเงาสะท้อนว่า ถ้าเมื่อไหร่ทั้งสามก๊กมีการแข่งขันกัน จะไม่สามารถลงเอยด้วยดีได้แม้แต่เรื่องเดียว ยกเว้นจะมีก๊กใดไปร่วมกับอีกก๊กหนึ่งถึงจะพอไปได้”
อธิบายเสียมองเห็นภาพได้ชัดเจนเลย!!!
เช่นกัน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ์จริง ใครจะแตะต้อง จะแก้ไข ถ้าไม่ขอความร่วมมือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ ความจริงองค์ประชุม 700 คน แค่ 350 คนก็เป็นองค์ประชุมแล้ว แต่นี่ล่มทั้งสองวันได้อย่างไร สะท้อนถึงการเมืองแบบสามก๊กตราบใดที่ยังไม่หาจุดลงตัวของทั้งสามก๊กไม่ได้การจะทำงานใหญ่อย่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีทางสำเร็จ
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวต่อจากข้อความข้างต้นอีกว่า…การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากปล่อยไว้นานไป ก็กลายเป็นว่าจะไม่มีทางแก้ไขจุดใดได้เลย ถ้าร่วมมือกันจริง ๆ แก้เฉพาะจุดสำคัญ โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ก็คงจะแก้ได้ แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งจะแก้ให้ได้ ก็กลายเป็นความแตกต่างทางจุดยืนจึงแก้ไม่สำเร็จ ตรงนี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญให้นักการเมือง ในยุคนี้ต้องเอามาทบทวน ว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือยุติ เพราะถ้าประชุมอีกก็ล่มอีก ตราบใดที่ยังไม่มีการเจรจายังถือทิฐิต่อไปก็จะล้มเหลว
ยังมีอีกหลายมุมมองและหลากความคิดเห็นในทางการเมือง เกี่ยวกับปมปัญหาและความไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคการเมืองที่ต่างก็ยึดโยงจุดหมายแห่งตนเป็นหลัก จึงยากจะสำเร็จได้
ก็อย่างที่ นพ.เปรมศักดิ์ พูดนั่นแหละ…การจะแก้ไขกฎหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งหากไม่ลดทิฐิในทางการเมืองด้วยแล้ว การแก้ไขจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และหากปล่อยผ่านเวลาล่วงเลยไป ก็ยิ่งจะยากมากขึ้น
สำหรับ “คนชักใย” เกมค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว ปรากฏการณ์สภาฯล่มซ้ำซาก อาจเข้าตำรา “อยู่ภูดูแมวกัดกัน” ประมาณนี้!!!.