การเมืองท้องถิ่น สะท้อนภาพอนาคตการเมืองใหญ่ในอีก 2 ปีข้างหน้า?
ผลการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) รอบสุดท้าย 47 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ผ่านพ้นไปแล้ว เบื้องต้นไม่เป็นทางการ…เพราะยังต้องรอการประกาศรับรอบจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
กระนั้น 2 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ประกาศส่งผู้สมัครลงแข่งขั้น ก็ชัดเจนว่า…พรรคเพื่อไทย คว้าชัยมาได้มากที่สุด 18 จังหวัด ส่วน พรรคประชาชนได้มาแค่ 1 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูด ขณะที่พรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน แต่เป็นอันรู้กันว่า…สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น…พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ
โดยเฉพาะ พรรคภูมิใจไทย ที่ว่ากันว่า…มีคนที่พรรคฯสนับสนุน แม้จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนาม “ผู้สมัครอิสระ” แต่ชนะเลือกตั้งมาได้ถึง 12 ที่นั่ง ที่เป็น “ผู้สมัครอิสระ – จริงๆ” กล่าวคือ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด หลุดเข้ามาถึง 6 จังหวัด ที่เหลือเป็น…ผู้สมัครที่ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นๆ แอบสนับสนุนรวมกัน 10 จังหวัด
นี่ยังไม่นับรวม การเลือกตั้ง นายก อบจ. ก่อนหน้านี้
ทั้งหมดมัน สะท้อนภาพการเมืองในสถานการณ์นี้ และการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีก 2 ปีเศษข้างหน้า ว่า…การแข่งขันทางการเมืองของบรรดาพรรคการเมือง จะร้อนแรงมากยิ่งๆ ขึ้น และไม่เฉพาะ การเมืองภาพใหญ่ แต่จะลงลึกถึงระดับการเมืองท้องถิ่น เนื่องจาก…ผู้ใหญ่ของหลายพรรคการเมือง ต่างรู้ดีว่า…ตำแหน่งในระดับการเมืองท้องถิ่น และบรรดา “บ้านใหญ่” ของหลายจังหวัด คือ “ต้นทุนคะแนนเสียง” ในทางการเมือง หากคิดจะครอบครองพื้นที่ทางการเมืองในภาพใหญ่ จะมีชัยหรือได้คนกลุ่มนี้มาร่วมงานการเมือง
งานนี้…พรรคการเมืองและแกนนำพรรคการเมืองที่ดูจะเสียหน้ามากสุด! คงไม่พ้น…พรรคประชาชน ที่ แกนนำระดับ “แม่เหล็ก” หลุดพ้นวงโคจรทางการเมืองไปรอบ 2 นับแต่ยุค “นราธร จึงรุ่งเรืองกิจ – ปิยบุตร แสงกนกกุล” (พรรคอนาคตใหม่) จนถึงยุค “พิธา ลิ้มเจริญารัตน์ – ชัยธวัช ตุลาธน” (พรรคก้าวไกล) ทำให้ แกนนำที่เหลือ ค่อยๆ หมดเสน่ห์และมนต์ขลัง
กระทั่ง ไร้แรงดึงดูดในทางการเมือง เช่นที่เห็นกันอยู่ในยามนี้
ที่สำคัญ แม้บรรดา อดีตแกนนำ ที่หลายคน…มาเดินทางมาช่วยหาเสียงในหลายจังหวัด ก็ไม่อาจจะปลุกคะแนนเสียงขึ้นมาได้
สิ่งนี้ อาจส่งต่อไปยังการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในปี 2570 ที่ครั้งนั้น…พรรคชนะการเลือกตั้ง และกวาด ส.ส.เข้าสภาฯมากที่สุด
อาจไม่ใช่ พรรคสีส้ม ในนาม พรรคประชาชน อีกต่อไป!!!
เรื่องนี้…ดูเหมือน บรรดาแกนนำเก่า-ใหม่ของพรรคสีส้ม ต่างรู้กันดี!
ส่วนหนึ่ง…เพราะ บรรดาพรรคการเมือง และ “บ้านใหญ่” ต่างมีบทเรียน จากการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2666 รวมถึงการเลือกตั้ง สว. เมื่อปี 2567 และล่าสุด กับการเลือกตั้ง นายก อบจ.
รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร? ในสถานการณ์นี้
อีกส่วนหนึ่ง…เป็นเพราะ วิธีคิดของ ส.ส.พรรคสีส้มเอง ที่ทำตัวห่างเหินกับชาวบ้านเจ้าของคะแนนเสียง
จะว่าไป…ก็ยากอยู่เหมือนกันกับการจะชี้ชัดว่า คะแนนเสียงที่พรรคสีส้มเคยได้มาเมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 นั้น มาจากชาวบ้านคนใด? เนื่องเพราะคะแนนส่วนใหญ่ ลอยมากับ “โลกโซเชียล” ทั้งจากบัญชีรายชื่อและเขตเลือกตั้ง
ทำให้ความชิดใกล้ ระดับ…ลงพื้นที่ออกเยี่ยมเยือน และจัดหาบางสิ่งที่ขาดหายให้กับชาวบ้าน ทำได้ไม่ทั่วถึง กระทั่ง ชาวบ้านหลายพื้นที่ ทั้งที่เคยลงคะแนนให้ และกลุ่มที่ไม่ได้เลือกพรรคสีส้ม “สาปส่ง” ไม่เอาแล้ว…พรรคสีนี้
ภาพการเลือกตั้ง สว. และนายก อบจ. รวมถึง การเลือกตั้งซ่อมในบางพื้นที่ จึงปรากฏให้เห็นอย่างที่เป็นอยู่
นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง นายก อบจ.ในหลายพื้นที่ และได้ประกาศไปในหลายพื้นที่ว่า “ต้องชนะ” เมื่อไม่ชนะจะ “เสียรังวัด” แค่ไหน? คงไม่เท่ากับสิ่งที่ พรรคประชาชน กำลังประสบอยู่แน่ๆ
เวลายังพอมีเหลือให้ทุกพรรคการเมืองได้ปรับเปลี่ยนแนวคิด พร้อมกับปรับตัวเองเสียใหม่ เวลาข้างหน้าอีก 2 ปีเศษ อะไรก็เกิดขึ้นได้
พรรคสีน้ำเงิน…เติบโตมากเกินไป อาจถูกแรงบูรณาการของ พรรคสีร้อน “แดง – ส้ม” ช่วยกันล้ม! ในทางการเมือง ในวันข้างหน้า…ก็เป็นไปได้!!!.