วิป 3 ฝ่าย เลื่อนแก้ รธน. นัดใหม่ 13-14 ก.พ.นี้ ‘วันนอร์’ ไม่ยืนยันได้เห็น ‘ฉบับใหม่’ ทันรัฐสภาชุดนี้
“ประธานฯวันนอร์” นำถกวิป 3 ฝ่ายแก้ รธน. ชี้! ทุกฝ่ายขอเลื่อน 1 เดือน นัดหมายอีกครั้งฉลองวาเลนไทน์ เหตุรายละเอียดเยอะ ต้องศึกษาให้รอบคอบ พ่วงรอพรรคอื่นเสนอร่างประกบของเพื่อไทย ไม่ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคลอดทันรัฐสภาชุดนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังเป็น ประธานการประชุม 3 ฝ่าย ร่วมกับ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ประธานวิปรัฐบาล นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ ประธานวิปฝ่ายค้าน และ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ในฐานะเลขาฯวิปวุฒิสภา ถึงวาระกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม โดยย้ำว่า จากเดิมที่ได้กำหนดการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจำนวน 17 ฉบับ ในวันที่ 14-15 มกราคม 2568 นั้น แต่เพราะที่ประชุม 3 ฝ่ายเห็นว่าการแก้ไขทั้งฉบับ จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบหลายด้าน จึงขอนำไปพิจารณาก่อน รวมถึงพรรคเพื่อไทยจะมีการยื่นร่างเข้ามาเพิ่มอีก และยังไม่ทราบว่าภาคประชาชน หรือพรรคอื่นๆ จะเสนอเข้ามาด้วยหรือไม่
ดังนั้น จึงขอเวลาและจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในมาตรา 256 และหมวด 15 (1) ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ โดยเมื่อมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว การทำประชามติก็สามารถไปใช้ร่างที่สภาฯยืนยัน หรือร่างที่วุฒิสภาแสดงความคิดเห็นไปทำประชามติได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะทำประชามติ 2 ครั้ง โดยไม่ได้ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และในวันที่ 14 มกราคม ก็จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขข้อบังคับการประชุมร่วม
“การเลื่อนออกไป 1 เดือนนั้น เนื่องจากในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย พิจารณาร่วมกันว่าถ้าเราพิจารณาเสร็จเร็ว ก็ยังต้องรอกฎหมายประชามติที่ต้องรอ 180 วัน แต่ขณะนี้เหลือ 100 กว่าวัน ฉะนั้น จึงคิดว่าต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งก็ไม่ช้าเกินไป ย้ำว่าอย่างไรก็ต้องรอ เพราะอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ” นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุ
ส่วนจะได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐสภาชุดนี้หรือไม่นั้น ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ไม่สามารถพูดได้ว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะขั้นตอนขึ้นอยู่กับการประชุมร่วมรัฐสภา ทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือรับหลักการและครั้งที่ 2 คือ ร่างที่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะไปร่างอีกครั้ง รวมถึงประชาชนจะต้องออกเสียงประชามติอีก 2 ครั้ง ฉะนั้น จึงเป็นความหวังว่าน่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หน้าตาเป็นอย่างไรยังพูดไม่ได้.