ป้องสะใภ้ใต้! ‘เดชอิศม์’ชี้คนใต้ส่วนใหญ่เข้าใจ นายกฯติดภารกิจ /มท.ชง5พันล.ช่วย
“เดชอิศม์ ขาวทอง” แจง ชาวใต้ส่วนใหญ่เข้าใจนายกฯไม่ลงพื้นที่น้ำท่วม เพราะติดภารกิจครม.สัญจรเชียงใหม่ มั่นใจ หลังจากนี้ลงใต้แน่นอน ขณะที่ชาวบ้านอยากให้ฟื้นฟูเร่งด่วน – วางแผนแก้ปัญหาระยะยาว
วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เวลา 09.53 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกระแสดรามา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ลงพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า คนใต้ส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะตรงกับการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และมีการวางแผนประชุมไว้ แต่ในช่วงน้ำท่วมนายกฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ส่งรองนายกรัฐมนตรีหลายท่านลงพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้ นายกฯยังโทรศัพท์มาถึงตัวเองโดยตรงให้ดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ รวมถึงได้สั่งทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า มีเสียงชาวบ้านติติงเรื่องนี้หรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่มีความเข้าใจ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการ คืออยากให้นายกฯเร่งฟื้นฟู และ แก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำไหลลงทะเลที่มีความยากลำบาก เพราะมีการสร้างถนนขวางทางน้ำหรือบางที่อาจจะไม่มีท่อระบายน้ำ คูคลองต่างๆตันทำให้น้ำไหลไม่สะดวก จึงอยากให้นำปัญหาทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาทีเดียว หากครั้งหน้ามีปริมาณน้ำมากก็จะไม่เดือดร้อนเท่าครั้งนี้
เมื่อถามว่านายกฯได้มีการประสานว่าจะลงพื้นที่ภาคใต้วันไหนหรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่เชื่อว่านายกฯจะลงพื้นที่แน่นอน และเชื่อว่าอาจจะมีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้.
ด้าน นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงมหาดไทย จะเสนอเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ วงเงินเบื้องต้นกว่า 5,000 ล้านบาท ให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) พิจารณาแล้ว และ จะเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาในวันนี้(3 ธ.ค.) โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินเยียวยาให้กับทุกจังหวัดที่ประสบภัย เป็นการจ่ายตามหลักเกณฑ์เดียวกับทุกภาคที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมา สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท ซึ่งการประเมินความเสียหาย จะใช้ 2 หลักเกณฑ์ คือ 1. เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย น้ำท่วมขังไม่เกิน 7 วัน และ 2. กรณีน้ำท่วมขังเกิน 7 วัน