นักวิชาการ มองโอกาส ความเสี่ยง หลัง ” โดนัลด์ทรัมป์” ผงาดนั่งเก้าอี้ ปธน.สหรัฐฯ อีกสมัย
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้า มอง โอกาส-ความเสี่ยง ต่อไทย หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ผงาดนั่ง เก้าอี้ปธน.สหรัฐฯ อีกสมัย จับตามาตรการ ตั้งกำแพงภาษี อย่างเข้มงวดกับ จีน 60 % ส่งผลดีต่ออาเซียนรวมถึง ประเทศไทย
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย วิเคราะห์เศรษฐกิจและการเมือง ที่จะส่งผลต่อไทย หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ อีกครั้งว่า ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า ทรัมป์ จะมีนโยบายการค้าที่เข้มงวดกับจีนมากขึ้น เก็บภาษีสูงขึ้น อาจจะสูงถึง 60% ตามที่ทรัมป์ได้หาเสียงเอาไว้ แต่การดำเนินการจริง ก็อาจจะไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ทั้งหมด เนื่องจาก บางเรื่องต้องผ่านรัฐสภา ต้องดูผลเลือกตั้งรัฐสภาด้วยว่าเสียงข้างมากเป็นของพรรคไหน หากทำได้ตามที่ประกาศ ก็คงมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนครั้งใหญ่ และ คนที่จะได้รับผลบวก ที่่จะตอบรับการลงทุนจากจีน ที่จะย้ายฐานมาคือ ไทย อาเซียน และ เวียดนาม ที่ได้ประโยชน์มากเป็นพิเศษ
“ส่วนมาตรการกำแพงภาษี กระทบกับทุกคน และ รูปแบบการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยพื้นฐาน ทรัมป์เป็นนักธุรกิจมาก่อน เป็นนักเจรจาต่อรอง ไม่ได้ยึดติด กฎกติกาองค์การการค้าโลก ข้อตกลงของเวทีพหุภาคี สิ่งที่ต้องการคือ 2 ต่อ 2 เป็นทวิภาคีมากขึ้น จะทำให้อำนาจอยู่ที่สหรัฐ เพราะสหรัฐเป็นประเทศใหญ่ เวลาไปเจรจากับใครตัวต่อตัว สหรัฐจะได้เปรียบ กรณีไทย สหรัฐฯ อาจจะกดดันให้ไทยเปิดตลาดให้ธุรกิจ หรือ สินค้า ที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ และ อาจจะให้ไทย ปฏิบัติตามเงื่อนไขการค้าที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐมากขึ้น”
กับประเด็นข้อกังวลว่าสหรัฐฯจะกดดันให้ไทยได้ดุลน้อยลงไหม รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ถูกต้อง ช่วงที่ทรัมป์เป็นสมัยแรก ไทยอยู่ในประเทศที่อยู่ในรายชื่อเอาเปรียบดุลการค้าของสหรัฐ โดยเฉพาะมุ่งประเด็นไปที่การกดค่าเงินบาทให้อ่อนกว่าความเป็นจริง ซึ่ง ต้องไปใช้เหตุผล ข้อมูล ไปแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ทำแบบนั้น
นอกจากนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังให้มุมน่าสนใจ อาทิ “มีอีกมุมคือ บริษัทอเมริกันที่ลงทุนในประเทศต่างๆทั่วโลก ถ้าไปลงทุนและไม่ได้ประโยชน์ เขาอาจจะย้ายฐานกลับสหรัฐ เพราะนโยบายของทรัมป์เอง เขาต้องการให้บริษัทข้ามชาติสหรัฐกลับไปลงทุนในสหรัฐ เพื่อจะได้จ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจดี”
“เรื่องการขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้า 100% กับประเทศที่ไม่ใช้เงินสกุลดอลลาร์ เพราะระบบการเงินโลก มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ มีกลุ่ม BRIC ขึ้นมา และ กลุ่มนี้บอกว่า การค้าขายจะพยายามใช้เงินสกุลท้องถิ่น และเพิ่มบทบาทของทองคำในเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อลดบทบาทการพึ่งพาดอลลาร์ ทรัมป์จะใช้วิธีว่า ถ้าประเทศไหนไม่ค้าขายสกุลดอลลาร์ ก็ตั้งกำแพงภาษี 100% เป็นกลยุทธ์ ที่จะรักษาความสำคัญของเงินสกุลดอลลาร์ต่อไป”
“แกนหลักคือ อเมริกัน เฟิร์สท์ ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลให้เขาได้รับคะแนนเสียงมาก นโยบายต่างประเทศ ก็จะลดบทบาทสหรัฐ ในเวทีระหว่างประเทศ อะไรที่ทำให้สหรัฐเกิดต้นทุน มีค่าใช้จ่ายมาก ก็จะลดบทบาทลงมา แต่ไม่ถึงขั้นโดดเดี่ยวตัวเอง ซึ่งมันก็มีทิศทางว่า สหรัฐจะลดบทบาทต่อเนื่อง เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ได้รับคะแนนเสียง เช่น บทบาทต่อสงคราม มีแนวโน้มที่สงครามใหญ่ๆ จะมีทิศทางในการเจรจามากขึ้น เพราะทรัมป์เป็นนักธุรกิจ เขาก็จะไม่มองเรื่องอุดมการณ์เสรีภาพ อุดมการณ์ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง มันไม่มีฐานของความคิดแบบนี้ในทางนโยบายเท่าไหร่ นโยบายก็จะออกมาเป็นว่าไปตามความเป็นจริงเรื่องผลประโยชน์”
ส่วนผลกับไทยนั้น รศ.ดร.อนุสรณ์ ย้ำว่า ยังไงไทยก็ต้องใช้เงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลัก เพราะค่าเงินของ BRIC ไม่ใช่เงินสกุลสากล ทั้งปริมาณและเชิงมูลค่า ในการซื้อขายเงินตรา สกุลดอลลาร์มัน 80-90% เงินสกุลอื่นไม่ได้มีผลอะไร แม้ในการค้าโลก หยวน มีบทบาทบ้าง แต่เล็กน้อยมาก สิ่งที่จะแทนดอลลาร์ได้คือทองคำ ธนาคารกลางทุกประเทศ ต้องถือ ทองคำ ดอลลาร์ สำรอง แต่ ดอลลาร์ เป็นสกุลหลักของโลก การจะเปลี่ยนโครงสร้างของการเมืองโลก มันใช้เวลา ไม่สามารถเกิดขึ้นทันที เรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในการดำเนินนโยบายโดยรวม ต้องรักษาสมดุล ในระบบที่เป็นพหุขั้วอำนาจมากขึ้น แต่ไม่ชัดมาก สหรัฐเป็นมหาอำนาจหลัก ไม่ต่ำกว่า 10-20% ปี ประเทศอื่นมีบทบาทขึ้นก็จริง แต่โครงสร้างใหญ่เหมือนเดิม
ถามว่า ไทยจะวางสถานะตำแหน่งระหว่างจีนและสหรัฐยากขึ้นหรือไม่นั้น รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ยากขึ้น เราต้องมีการวางสถานะทางยุทธศาสตร์ให้ดี การวางสถานะตรงนี้ มองว่าต้องเป็นลักษณะการเป็นอิสระอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ผูกกับขั้วไหน แต่ดำเนินกลยุทธ์เพื่อผลประโยชน์กับประเทศ และถ่วงดุลให้เหมาะสม
“เวลาเราวิเคราะห์ทรัมป์ ต้องให้ลึก อย่าวิตกเกินเหตุ ช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง เดโมแครตจะพุ่งเป้าว่า ทรัมป์เป็นฟาสซิสต์ เผด็จการ แต่เราต้องดูความเป็นจริงว่า ระบบและกลไกสหรัฐ มันไม่สามารถทำให้ผู้นำการเมืองคนไหนเป็นฟาสซิสต์ได้ จะถูกตรวจสอบถ่วงดุลอย่างหนัก อย่างมากที่สุดก็อยู่ได้ 4 ปี ก็ลงจากอำนาจ และไม่สามารถกลับมาได้อีกแล้ว โอกาสจะเป็นแบบฮิตเลอร์แบบที่โจมตีกัน ก็เป็นสิ่งที่ คล้ายๆ Politicize มากเกินไป เป็นการถูกต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเอาชนะ
“ขณะที่การเป็นปฏิปักษ์กับจีน ส่วนหนึ่งมันเป็นเทคนิคในการหาเสียง พอบริหารประเทศจริงๆ ทรัมป์ก็อาจจะไม่ได้ขึ้นกำแพงภาษีกับจีนมากขนาดนั้นก็ได้ อาจจะพยายามเป็นมิตรกับจีนมากขึ้น เหมือนที่เป็นมิตรกับเกาหลีเหนือเพื่อลดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เขาเป็นนักกลยุทธ์”
รศ. ดร.อนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่า ทรัมป์มาเป็นผู้นำ จะมีปัญหาหลายๆอย่างกับโลก อย่าง Globle warming ภาวะโลกร้อน เพราะเขาปฏิเสธ อาจจะถอนตัวจากการเข้าร่วมข้อตกลงปารีส หรือ ข้อตกลงอะไรหลายอย่าง ซึ่งก็มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง !