‘เห็นต่างเชิงนโยบาย/การเมือง’ กดดันกันไม่ง่ายแล้ว
ดูเหมือน “ดินเนอร์” ระหว่างหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ พรรคเพื่อไทย โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อเย็นย่ำค่ำของวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ชั้น 5 ห้องจัดเลี้ยง The Pavilion โรงแรมโรสวูด อาจไม่ใช่บทพิสูจน์ความเป็นหนึ่งเดียวของพรรคร่วมรัฐบาลสักเท่าใด?
บนความเป็นจริง! ใช่ว่าความเป็น พรรคร่วมรัฐบาล จะทำให้ทุกพรรคการเมืองต้องคิดและทำในทุกสิ่งที่เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะ พรรคใหญ่…ต่างก็แนวคิด มีจุดยืน และมีแนวนโยบายเป็นของตัวเอง
บางเรื่อง…อาจเป็นนโยบายที่คล้ายหรือตรงกัน จนสามารถประกาศเป็น “นโยบายของรัฐบาล” ได้
แต่หลายนโยบายก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง!
พรรคเพื่อไทย…มีนโยบายแจกเงินหมื่น นโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และอื่นๆ
พรรคภูมิใจไทย…พรรคอันดับ 2 ของ “รัฐบาลแพทองธาร” ก็มีนโยบายกัญชาเสรี และอื่นๆ เช่นกัน
บางนโยบาย…พรรคหลักของรัฐบาลอาจไม่เห็นด้วยกับพรรคอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ แต่ละพรรคการเมืองจึงต้องบริหารจัดการความแตกต่างให้ได้อย่างลงตัว
การหักหน้าหรือหักด้ามพร้าด้วยเข่า…ด้วยการประกาศต่อต้านหรือคัดค้านระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่ค่อยมีให้เห็น…
ยกเว้น! บางพรรคการเมืองต้องการใช้เพื่อการต่อรองกับอีกพรรคการเมืองหนึ่ง!!!
ครั้งหนึ่ง…พรรคเพื่อไทย แกนนำหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เคยเดินเกมในลักษณะที่เหมือนจะ หักดิบนโยบายกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย แต่เมื่ออีกฝ่ายเดินเกมโต้กลับ ทำนอง…พร้อมจะคัดค้านบางนโยบายของเพื่อไทย ทุกอย่างจึงต้องกลับมาสู่จุดเดิม
นั่นคือ…ไม่ต่อต้านนโยบายกัญชาเสรีอย่างออกนอกหน้าอีกแล้ว
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ดี การออกกฎหมายประชามติ และกฎหมายนิรโทษกรรม ก็ดี ดูเหมือนจะเป็นอีกเรื่องที่ พรรคร่วมรัฐบาล จะเห็นไม่ตรงกัน แต่นั่น…พอเข้าใจได้ เพราะมันมีเรื่องหนักๆ ที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 และอำนาจขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะแตะต้องกันง่ายๆ
แต่กับ นโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือสถานบันเทิงครบวงจร นี่สิ ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็น…จุดเริ่มต้นของชนวนความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย
ล่าสุด แนวคิดที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมจะนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการเปิดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2567 นี้ ได้กลายเป็น “วิวาทะ” ในทางการเมืองระหว่าง 2 พรรคใหญ่ร่วมรัฐบาลไปเสียแล้ว
คำตอบที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกกับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า…การจะนำเรื่องใดๆ ก็ตามเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และสภาผู้แทนราษฎร ต้องทำการหารือกันก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกพรรคการเมืองจะต้องทำ
“ทุกอย่างต้องมีการพูดคุย ทุกคน ก็ต้องผลักดันงานของตัวเองอย่างเต็มที่ และอะไรที่ต้องใช้ ครม. และสภาก็ต้องหารือกัน ถือเป็นเรื่องการทำงานตามปกติอยู่แล้ว” นายอนุทิน ย้ำ
กับคำถามที่ว่า…หากพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าผลักดันกฎหมายดังกล่าวจะต้องต้องยึด แนวทาง 4 ข้อ ที่พรรคภูมิใจไทย ออกมาแถลงก่อนหน้านี้หรือไม่ คำตอบคือ…พรรคภูมิใจไทย มีแนวทางเรื่องนี้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ “4 จุดยืน” ของพรรคภูมิใจไทย กรณีการจัดทำร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่เกิดขึ้นในสมัย “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมนนั้น เป็น นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แถลงจุดยืนเอาไว้ดังนี้
1.พ.ร.บ.ฉบับนี้นี้จะไม่แก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และอาจทำให้มีการพนันทั้งบนดินและใต้ดินจนเกิดปัญหา
2.เรื่องผลประโยชน์ต่อรัฐ และประชาชน เรายังรู้สึกว่ายังไม่มีความชัดเจนมากพอที่จะลงทุนทำเรื่องแบบนี้
3.ผลกระทบต่อการขับเคลื่อนกระตุ้นท่องเที่ยว ซึ่งเราไม่มั่นใจว่ากาสิโนจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้
และ 4.เท่าที่ดูยังไม่เห็นมาตราไหนของร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุเรื่องการช่วยเหลือแรงงานชาวไทยในการจ้างงาน ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมอื่นๆคงมีความเห็นเช่นกัน และหวังว่ารัฐบาลจะนำประเด็นต่างๆ เหล่านี้ไปพิจารณา
ถึงตรงนี้ พรรคภูมิใจไทย มิได้เป็นแค่…พรรคอันดับ 2 ของ “รัฐบาลแพทองธาร” แต่ยังถูกว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างมากอยู่ในซีกของวุฒิสภา และในอนาคตอันใกล้ วุฒิสภาชุดนี้…ก็จะทำการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระบางแห่ง เพื่อเติมเต็มให้ครบองค์ประชุม
ซึ่งนั่น…ก็อาจเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานขององค์กรอิสระบางแห่ง ภายใต้การทำงานของสมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบัน
ทั้งหมดทั้งมวลมันจะสะท้อนภาพที่ว่า…หากพรรคอันดับ 2 จะมีความคิดเห็นไม่ตรงกับพรรคอันดับ 1 ถึงขั้นจะแสดงออกในความไม่เห็นด้วย เพื่อการต่อรองในทางการเมืองหรืออะไรก็ตาม
วันนี้…ใช่ว่า “นายน้อย” หรือ “นายใหญ่” จะกดดันกันได้ง่ายๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว!!!.