รัฐจำนน! ปล่อยผี ‘คนไม่จนแต่ถือบัตรคนจน’ รับแจกเงินหมื่น? อ้างรอเคลียร์ทีเดียวต้นปีหน้า  

ภาครัฐยอมจำนน! ปล่อยผี “ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ก้าวพ้นขีดความยากจนไปแล้ว แต่ยังได้รับสิทธิการโอนเงิน 10,000 บาทจากรัฐบาล อ้างตรวจเช็คยาก? ต้องรอปรับเกณฑ์ใหม่ในทุก 2 ปี คาดต้นปี 2568 เปิดทบทวนสิทธิฯ พร้อมรับกลุ่มใหม่เข้าร่วมโครงการฯ

ท่ามกลางเสียงก่นด่าในสังคมไทยต่อ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ ซึ่งเป็น “ชื่อใหม่” ของ โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โดยเฉพาะ การแจกเงินให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการจำนวน 14.5 ล้านคน ซึ่ง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้เริ่มทยอยโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ และบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้ให้กับผู้มีสิทธิ์ ตั้งแต่เมื่อช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 25 กันยายน 2567 ที่ผ่านมานั้น  

เสียงก่นด่าที่ว่านี้ เป็นผลมาจากจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อยู่ในข่ายจะได้รับการโอนเงินจำนวน 13.5 ล้านคนนั้น แม้จะหักผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ในกลุ่มคนที่ฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจ จนกลับมามีงานทำและมีรายได้ ซึ่งจะต้องสิ้นสุดสภาพความเป็นคนจน และต้องคืนสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่กลับปรากฏว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการคลัง กลับไม่สามารถดำเนินการคืนสิทธิดังกล่าวได้

ทำให้มีคนจำนวนมากในกลุ่มนี้ ซึ่งพ้นสภาพจากการเป็นผู้มีรายได้น้อย (คนจน) และบางคนมีรายได้เกินเส้นแบ่งความยากจนไปไกลมาก แต่กลับได้รับแจกเงิน 10,000 บาท ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ด้วยเหตุผลที่ฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำของกระทรวงการคลัง ให้ไว้คือ…การจะทบทวนสิทธิผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น จะต้องดำเนินการในทุกๆ 2 ปี ซึ่งการทบทวนครั้งล่าสุด เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 โดยการทบทวนสิทธิฯในครั้งนั้น สามารถลดจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐลงจากเดิม ในปี 2560 – 2561 ที่มีผู้ได้รับสิทธิฯ 14.9 ล้านคน เหลือเพียง 13.5 ล้านคน เนื่องจากมีผู้ได้รับสิทธิฯบางคนที่เสียชีวิตไปแล้ว

ทั้งนี้ “โฆษกกระทรวงการคลัง” นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เคยแถลงข้อมูลสรุปการโอนเงินไปให้ “คนกลุ่มเปราะบาง” ทั้ง 2 กลุ่ม ในช่วงระหว่างวันที่ 25 – 30 กันยายน 2567 โดยระบุว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง สามารถโอนเงินสำเร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 14.05 ล้านคน และการโอนเงินไม่สำเร็จ 381,287 คน

จากข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่า ในจำนวน 14.05 ล้านคน ที่ได้รับการโอนเงินในครั้งนั้น พบว่า เป็นกลุ่มคนที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 12 ล้านคนเศษ ที่เหลือ 2.04 ล้านคน เป็นกลุ่มคนพิการ จากตัวเลขคนพิการที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้ราว 2.15 ล้านคน

ทั้งนี้ หากเทียบจำนวนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายหลังการทบทวนสิทธิฯเมื่อช่วงปลายปี 2565 ซึ่งมีจำนวน 13.5 ล้านคน กับจำนวนที่ได้รับการโอนเงิน 10,000 บาทราว 12 ล้านคนเศษ นั่นก็หมายความว่า…มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกือบ 1.5 ล้านคน ที่ไม่ได้รับเงินแจกเงิน 10,000 บาท แม้ว่าจะหักออกจากยอดการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 381,287 คน ก็ไม่ทำให้ตัวเลขของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกือบ 1.5 ล้านคน เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญมากนัก

ประเด็นสำคัญก็คือ ในจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับแจกเงิน 10,000 บาท จำนวน 12 ล้านคนเศษนั้น เป็นตัวเลขของผู้ที่อยู่ในข่ายจะต้องได้รับสิทธิในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฯจริงแค่ไหน? มีการโอนเงินไปให้กับคนที่ไม่เป็นคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยหรือไม่? อย่างไร?

ที่จริงเรื่องดังกล่าว ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำของกระทรวงการคลัง ต่างก็ยอมรับแล้วว่า…เป็นการยากจะพิสูจน์ในเรื่องนี้ แม้จะมีเสียงทักท้วงจาก ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการคลัง แล้วว่า…การตรวจเช็ครายได้และการชำระภาษีของคนในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ น่าจะทำให้ได้ข้อมูลข้อเท็จมิใช่หรือ? แต่คำตอบที่รับคือ…กระทรวงการคลังมีแผนจะทบทวน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงปลายปีนี้ แต่เพราะติดปัญหาที่รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือเยียวผู้ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จึงจำเป็นจะต้องเลื่อนการทบทวนสิทธิฯดังกล่าวออกไปเป็นช่วงต้นปี 2568

ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า กระทรวงการคลังมีแผนจะเปิดลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพื่อทบทวนผู้มีสิทธิเดิมที่จะครบกำหนด 2 ปีในปี 2567 นี้ ซึ่งนอกจากจะได้ทบทวนสิทธิให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจที่ใด้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทแล้ว ยังจะเปิดโอกาสให้มีการรับสมัครบุคคลใหม่ที่เข้าเกณฑ์ได้เข้าร่วมโครงการฯด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2568 นี้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password