คลังแก้ต่างแทนรัฐบาล ยก ‘4 ข้อ’ ง้างสื่อฯ – ยันทำถูก กม.วินัยการเงินฯ

รัฐบาลเต้น! หลังสื่อออนไลน์บางแห่ง อ้างข้อกล่าวหาของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ พาดพิง “นายกฯ + รมว.คลัง” ทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ใช้ 2 มาตรการ บีบแบงก์ออมสินปล่อยกู้ในโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND และสินเชื่อซอฟท์โลน ทำแบงก์รัฐเสียหายกว่า 4.5 พันล้านบาท ด้าน “โฆษกคลัง” ยก 4 เหตุผลแย้ง! อ้างสื่อฯพาดหัวข่าวไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง! เช็ครายละเอียดได้เลย…

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีข้อกล่าวหาของ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมากล่าวหาว่า รัฐบาลปล่อยกู้โครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (สินเชื่อซอฟท์โลน) โดยใช้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังแห่งรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) สองมาตรฐาน ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

โดยกล่าวผ่าน “สื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง” ที่ได้รายงานข่าวว่า ผู้กล่าวระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกระทำผิด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ โดยนำเงินของธนาคารออมสินมาปล่อยกู้ผ่านโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND ทำให้ธนาคารออมสินสูญเสียรายได้ 1,150 ล้านบาท และมีการอนุมัติเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ

และต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อซอฟท์โลนวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้สนับสนุนธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรับไปปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) โดยส่วนต่างของกำไรที่ธนาคารออมสินได้รับต้องเฉลี่ยให้ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการด้วย จึงทำให้ธนาคารออมสินขาดทุน ทั้งต้นทุน ดอกเบี้ยเงินที่กู้มา และรายได้ในกรณีที่ปล่อยกู้เองรวมยอด 4,580 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลอ้างว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่เข้าข่าย พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เพราะธนาคารออมสินไม่ขอรับการชดเชยรายได้ที่สูญเสีย นั้น เป็นการ จงใจเลี่ยง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่ เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ตามาตรา 28 ชนเพดานร้อยละ 32 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ถือเป็นความผิดตามมาตรา 140 และมาตรา 142 แห่งรัฐฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่

โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า การพาดหัวข่าวดังกล่าวมีความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง กระทรวงการคลังจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจและการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อ IGNITE THALAND โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารตามขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 3 กลุ่ม ได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ และศูนย์กลางอาหาร รวมถึง Supply Chain ของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2.5 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด ไม่เกิน 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปีใน 2 ปีแรก รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 250 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารออมสิน นอกจากนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ยังค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามโครงการ คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30 โดยรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมและค่าประกันชดเชยรวมร้อยละ 18 รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 900 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวเข้าข่ายการดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคตจากการที่รัฐบาลรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้จากการดำเนินการดังกล่าวให้แก่ธนาคารออมสินและ บสย.

(2) คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบให้ธนาคารออมสินแยกบัญชีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว ธนาคารออมสินใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารตามขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 100,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน ร้อยละ 3.5 ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน และภายใต้วงเงินดังกล่าวธนาคารออมสินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรงในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายการดำเนินการตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เนื่องจากเป็นโครงการที่ธนาคารออมสินพิจารณาแล้วสามารถดำเนินการเองได้โดยไม่ได้ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล จึงไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต โดยเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและสอดรับกับพันธกิจของธนาคารออมสินในการเป็นธนาคารเพื่อสังคมหรือ Social Bank ธนาคารออมสินจะปรับลดกำไรบางส่วนเพื่อมารองรับส่วนสูญเสียรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินพิจารณาแล้วว่าจะไม่กระทบกับฐานะและผลการดำเนินงานของธนาคารออมสิน โดยขอให้แยกบัญชีโครงการดังกล่าวเป็นบัญชี PSA เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบ และติดตามผลการดำเนินงานได้

(3) การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งรวมถึงสินเชื่อซอฟท์โลน เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กิจการมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ รวมถึงการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร พัฒนากระบวนการผลิต ตลอดจนขยายกิจการ ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ มีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นที่นานขึ้น เพื่อช่วยลดภาระด้านต้นทุนในการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs

(4) ในช่วงที่ผ่านธนาคารออมสินได้มีการสนองตอบนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งโครงการที่ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงในลักษณะเดียวกับโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND เช่น โครงการสินเชื่อ Soft loan Re-Open สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น และโครงการที่ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในลักษณะเดียวกับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19).

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password