ผงะ! กรมศุลฯพบลักลอบสั่งนำเข้า ‘อาวุธปืน – STARLINK’ จากต่างประเทศ

รมช.คลัง “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” นำแถลงจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและของที่เป็นอันตรายต่อสังคม เผย! จับส่วนประกอบอาวุธปืนครบเซ็ต พร้อมก่ออาชญากรรม และ “STARLINK” อุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของแก๊งมิจฉาชีพออนไลน์ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” รวมถึงสิ้นค้าไร้มาตราฐานคุณภาพอีกเพียบ รวมกว่า 46 ล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง พร้อมด้วย นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ “โฆษกกรมศุลกากร” และผู้บริหารของกรมฯ รวมถึง ตัวแทนจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ Superintendent Michael CYMBALISTA (ไมเคิล ซิมบาลิสต้า) Counsellor – Mekong Region Australian Embassy, Bangkok แถลงข่าว “ศุลกากรเร่งป้องกันและปราบปรามจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและของที่เป็นอันตรายต่อสังคม” มูลค่ากว่า 46.71 ล้านบาท ณ อาคาร 2 ชั้น 1 กรมศุลกากร เมื่อช่วงสายวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

นายจุลพันธ์ ระบุว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการป้องกันและปราบปรามสินค้าราคาต่ำและสินค้าไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งขณะนี้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) แทนกรมสรรพากรจนถึงต้นปีหน้า หลังจากจัดทำกฎหมายแล้วเสร็จ กรมสรรพากรจะเข้ามาจัดเก็บภาษีส่วนนี้เอง ส่วน แพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ Temu เริ่มทำตลาดในประเทศไทย ตนได้หารือกับทางกรมสรรพากร เพื่อประสานไปยังแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ดังกล่าว เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีของไทยแล้ว

สำหรับการจัดการปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและของที่เป็นอันตรายต่อสังคม กรมศุลกากรได้ขอหมายเข้าตรวจค้นจับกุมจากโกดังเก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มอัตราสุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  อีกทั้งยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นภัยต่อสังคม เช่น ยาเสพติด บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงบูรณาการกับ CIB ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ (Call Center)  

ทั้งนี้ สินค้าที่ได้จับกุมประกอบด้วย สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ณ โกดังใน อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง พบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์แต่งรถยนต์รวม 14,944 ชิ้น มูลค่ากว่า 1.8 ล้านบาท และบริเวณถนนบางนาตราด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พบหลอดไฟแอลอีดี หม้อไฟฟ้าอเนกประสงค์ และพัดลมตั้งพื้น จำนวน 1,260 ชิ้น มูลค่า 1 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 6 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งสิ้น 25 คดี จำนวน 231,971 ชิ้น  และ 50,578 กิโลกรัม มูลค่ารวม 66.55 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจค้นรถบรรทุกพ่วง จำนวน 3 คัน บริเวณ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และอ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา พบเศษพลาสติกจำนวน 60,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าเศษพลาสติก ทั้งสิ้น 3 คดี ปริมาณ 97,136 กิโลกรัม มูลค่ารวม 1.65 ล้านบาท

ส่วนการจับกุมยาเสพติด กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง โดยบูรณาการด้านการข่าวอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจพบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ เมื่อเปิดตรวจพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (HEROIN) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น ซุกซ่อนอยู่ภายในป้ายมงคลภาษาจีนแบบแขวน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 1,125 กรัม มูลค่า 3,375,000 บาท ต่อมายังได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ AITF ตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน (Cocaine) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 990 กรัม มูลค่า 3 ล้านบาท ซุกซ่อนอยู่ภายในห่วงบาสเกตบอล สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 5 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 119 คดี มูลค่ารวม 955 ล้านบาท

สำหรับ บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยในระหว่างวันที่ 1 – 12 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากสงสัยว่ามีของต้องห้ามต้องกำกัดหรือของมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ผลการตรวจค้นพบ บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 1,802,800 มวน มูลค่า 9,014,000 บาท และบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 10,245 ชิ้น มูลค่า 4,098,000 บาท รวมมูลค่า 13,112,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ได้เข้าตรวจค้นโกดัง ไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 1 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ผลการตรวจค้นพบ บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 1,728,000 มวน รวมมูลค่า 8,640,000 บาท  สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมบุหรี่ ทั้งสิ้น 1,570 คดี จำนวน 29.6 ล้านมวน มูลค่ารวม 168.40 ล้านบาท ส่วนสถิติการจับบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ทั้งสิ้น 318 คดี จำนวน 1.06 ล้านชิ้น  มูลค่ารวม 85.9 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมี ยาเสตียรอยด์สำหรับฉีดและรับประทานสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ทำการจับกุมสินค้านำเข้า ผลการตรวจสอบสินค้า ไม่พบสินค้าตามสำแดง แต่ตรวจพบเป็นยาเสตียรอยด์สำหรับฉีดและรับประทานสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่หมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุ จำนวน 3,043 กล่อง มูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท

อีกทั้งยังพบ ส่วนประกอบอาวุธปืน โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจสอบสินค้าที่ขนส่งทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 ชิ้ปเม้น ที่ได้อายัดไว้ โดยชิบเม้นแรก ตรวจพบ เป็นส่วนประกอบอาวุธปืน เช่น ชุดลั่นไก โครงปืน กระบอกเก็บเสียง แม๊กกาซีน และเครื่องกระสุนปืน รวมจำนวน 85 รายการ ประกอบด้วย อะไหล่และส่วนประกอบปืน จำนวน 146 ชิ้น มูลค่า 970,000 บาท ซองกระสุนและอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 90 ชิ้น มูลค่า 280,000 บาท และเครื่องกระสุน จำนวน 81 กล่อง (ประมาณ 1,620 นัด) มูลค่า 120,000 บาท และชิปเม้นที่สอง ตรวจพบเป็นส่วนประกอบอาวุธปืน เช่น ชุดลั่นไก โครงปืน กระบอกเก็บเสียง แม๊กกาซีน และเครื่องกระสุนปืน รวมจำนวน 65 รายการ ประกอบด้วย อะไหล่และส่วนประกอบ จำนวน 126 ชิ้น มูลค่า 550,000 บาท ซองกระสุนและอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 50 ชิ้น มูลค่า 30,000 บาท เครื่องกระสุน จำนวน 104 กล่อง (ประมาณ 2,080 นัด) มูลค่า 130,000 บาท รวมสินค้า 150 รายการ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ประกอบด้วย อะไหล่และส่วนประกอบ จำนวน 272 ชิ้น มูลค่า 1.52 ล้านบาท ซองกระสุนและอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 140 ชิ้น มูลค่า 310,000 บาท เครื่องกระสุน จำนวน 185 กล่อง (ประมาณ 3,700 นัด) มูลค่า 250,000 บาท

ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) กรมศุลกากรได้บูรณาการร่วมกับ CIB  ปฏิบัติการตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาโดยตลอด โดยน่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่มีการส่งอุปกรณ์มาจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยเพื่อส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านทางสามเหลี่ยมทองคำ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงเฝ้าระวังสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่นำเข้ามาผ่านการขนส่งทุกรูปแบบ รวมถึงมีการลาดตระเวนตามชายแดน จึงตรวจพบอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ยี่ห้อ “STARLINK” ที่มีการนำเข้ามาทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ การนำเข้าทางอากาศยานในรูปแบบของติดตัวผู้โดยสารและคลังสินค้า รวมถึงการเข้าตรวจค้นโกดังร้างที่สงสัยว่ามีการลักลอบขนย้ายสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีอากร และไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ตรวจยึดอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถรับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเพิ่มเติมได้จำนวน 237 เครื่อง และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 6,200 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 7.29 ล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password