สตง.เปิดเกมรุก! ดึง ‘ดิจิทัล’ ระงับความเสียหายโครงการรัฐ – เปิดทาง ‘สื่อตัวจริง’ เกาะติดตรวจสอบการใช้เงินหลวง

สตง.ยุคใหม่ ภายใต้การนำของ “มณเฑียร เจริญผล” เร่งยกระดับคุณภาพบุคลากร นำเทคโนโลยีดิจิทัล และดึงความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ มาช่วยในการตรวจสอบโครงการของรัฐ ทั้งโครงการทั่วไปและโครงการขนาดใหญ่มูลค่าพัน-หมื่นล้านขึ้นไป ประกาศตั้ง “ทีมโฆษก สตง.” ที่มี “รองฯสุทธิพงษ์ บุญนิธิ” เป็นแกนนำ ครอบคลุมส่วนกลางและ 15 ภูมิภาคทั่วไทย พร้อมเปิดช่องสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าโครงการตรวจสอบของรัฐ หวังลดและระงับความเสียหาย เผย! เป้าหมายสูงสุด คือ ใช้จ่ายเงินให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่า ภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนดไว้ เตรียมจัดแถลงข่าวประจำเดือน เริ่ม ก.ค.นี้

นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยถึงภารกิจของตนในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตลอดช่วงเวลา 6 ปี หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ว่า จะเน้น “สร้างคนเก่งคนดี มีความความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ยึดมั่นจิตสาธารณะ” เพื่อนำองค์กรไปสู่ “องค์กรตรวจสอบและเสริมสร้างวินัยการเงินการคลัง ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของหน่วยรับตรวจสาธารณชน และชุมชนตรวจเงินแผ่นดินในระดับสากล” ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร สตง. ถือเป็นเป้าหมายแรกที่สำคัญ เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านในเชิงลึก และมีความรอบรู้ในทางกว้างในรูปแบบสหสาขาวิชา รองรับการตรวจสอบที่เน้นการตรวจสอบเชิงบูรณาการ ตรวจสอบเรื่องที่มีความซับซ้อน ลดการใช้ดุลยพินิจ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการตรวจสอบ

พร้อมกันนี้ สตง.ยังได้เปิดตัว นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะ “โฆษก สตง.” และทีมงาน เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแถลงข่าว ให้ข่าว ชี้แจงข้อเท็จจริงและการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน “เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารองค์การ การประชาสัมพันธ์นโยบาย บทบาท ภารกิจ และเผยแพร่ผลการดำเนินงาน ผลการตรวจสอบของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสตง. ออกไปสู่สาธารณชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตรงประเด็น และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้แต่งตั้ง “โฆษก สตง.” พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานโฆษกในส่วนภูมิภาคทั้ง 15 ภูมิภาค มีหน้าที่หลักในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การแถลงข่าว ให้ข่าว ชี้แจ้งข้อเท็จจริง และประชาสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและระงับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ทางราชการ โดยจะจัดให้มีการแถลงข่าวผลงานการตรวจสอบของ สตง. พร้อมตอบข้อสอบถามของสื่อมวลชนเป็นประจำทุกเดือน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฎหมายได้ห้ามมิให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สตง. ทำการให้ข่าวหรือข้อมูลการตรวจสอบที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจาก ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งตนในฐานะ “ผู้นำองค์กร” เห็นควรจะให้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนที่ได้ขึ้นทะเบียน หรือเป็นสมาชิกเครือกลุ่มไลน์ของ สตง. ที่สนใจในประเด็นการตรวจสอบ ได้สอบถามและรับทราบความคืบหน้าของการตรวจสอบโครงการของหน่วยงานภาครัฐได้ แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบ รวมถึงห้ามเปิดเผยชื่อบุคคลและหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

นายมณเฑียร กล่าวว่า หลังจากที่ สตง.ได้จัดตั้ง สำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมการตรวจสอบโครงการของรัฐที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป โดยใช้แนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการลดและระงับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยให้การดำเนินงานแล้วเสร็จ ซึ่งระหว่างการตรวจสอบ หากพบประเด็นที่อาจเป็นความเสียหาย ก็จะแจ้งไปยังผู้บริหารระดับของหน่วยงานหรือองค์กรเหล่านั้นทันที และที่ผ่านมาสามารถช่วยให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าเต็มเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์

ด้าน นายสุทธิพงษ์ บุญนิธ ในฐานะ “โฆษก สตง.” กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา สตง.จะจัดส่งทีมงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างถนนพระรามที่ 2 ซึ่งมีการนำโดรนไปตรวจสอบการก่อสร้างว่ามีความคืบหน้าตามแผนงานที่กำหนดไว้หรือไม่ ส่วนรายละเอียดของตรวจสอบในส่วนที่เป็นสาระสำคัญคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากมีความคืบหน้าของตรวจสอบ สตง.ก็พร้อมจะแถลงข่าวให้สังคมไทยทราบผ่านสื่อมวลชนต่อไป

“ในส่วนโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น ปกติ สตง.จะดำเนินการตรวจสอบโครงการในส่วนที่ได้ดำเนินการและมีการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้ว ซึ่งโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ยังคงเป็นเพียงนโยบายที่การตรวจสอบโครงการเป็นหน้าที่ของรัฐสภาและ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม สตง.ได้เตรียมความพร้อมในวันที่การใช้จ่ายเงินในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตเกิดขึ้นแล้ว” โฆษก สตง. ย้ำ

สำหรับโครงการอื่นๆ ทั้งในส่วนที่เป็น โครงการของรัฐที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และโครงการ PPP ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน โครงการจัดซื้ออุปกรณ์/เครื่องกีฬา ฯลฯ ล้วนเป็นหน้าที่ที่ สตง.จะต้องดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ขณะที่ นายมณเฑียร (ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) ได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า สตง.พร้อมจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอี รวมถึงหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งบางแห่งได้ทำการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ไปแล้วบ้าง และจะทยอยลงนามในหน่วยงานที่เหลือต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการตรวจสอบโดยใช้ระบบดิจิทัลไปพร้อมกัน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password