สตง.แจงปมตึกใหม่ถล่ม! ยันกระบวนการดำเนินโครงการฯชอบด้วย กม. – เร่งตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเหยื่อด่วน!

สตง. เร่งตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบ จากกรณีอาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมยืนยันกระบวนการดำเนินโครงการฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

ท่ามกลางกระแสสังคม ถาโถมใส่ “องค์กรตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน” อย่าง…สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีอาคารที่ทำการของ สตง. ความสูงราว 30 ชั้น มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และถล่มครืนลงมาแค่ชั่วไม่กี่นาที นับจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.2568

“รู้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องตัวเอง” “ตรวจสอบทุกองค์กรรัฐ แต่ลืมตรวจสอบตัวเอง” และอีกหลายวลีทิ่มแทงหัวใจ “คน สตง.” ทุกระดับ! ว่อนอยู่ในโลกโซเชียมีเดีย

นับแต่วันเกิดเหตุ ท่าทีของ สตง. ภายใต้การนำของ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการฯ ยังคงนิ่งงัน? เสมือนกำลังช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สื่อหลายสำนัก หลากแขนง พยายามติดต่อเพื่อขอให้ ผู้บริหาร สตง. ชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่อาคารสำนักงานใหญ่ของ สตง. ถล่ม!

แม้จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่เข้าใจได้ว่า…เพราะเรื่องมันใหญ่ เกี่ยวข้องกับชีวิตแรงงานนับร้อยคน งบประมาณก่อสร้างจำนวนมหาศาล และภาพลักษณ์ของทุกฝ่าย ไม่เฉพาะ สตง. หากยังรวมถึงเครดิตของหน่วยงานรัฐ และรัฐบาลไทย

แน่นอน…ย่อมเกี่ยวพันกับภาพลักษณ์ของประเทศไทย ด้วย

จำเป็นจะต้องถือข้อมูลที่หนักแน่น ชัดเจน และตอบทุกคำถามของสังคมไทยได้

กระทั่ง เมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา สตง.จึงได้ออกหนังสือชี้แจง ผ่านไปยังสื่อมวลชนทุกแขนง มีรายละเอียดดังนี้

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะ โฆษก สตง. เปิดเผยว่า จากกรณี อาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้สูญหาย ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง  สตง. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยภายหลังจากที่ได้รับรายงานกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สตง. ได้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข พร้อมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ สตง. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ดังนี้

            – การออกแบบอาคาร สตง. ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานตรวจเงินแผ่นดินและสภาพพื้นที่ โดยมี บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2561

            – กระบวนการก่อสร้างอาคาร สตง. ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการ จัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท

            – การบริหารสัญญาก่อสร้าง สตง. ให้ความสำคัญกับ การดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญา และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศฯ ที่กำหนดไว้  โดยเฉพาะ กรณีการพิจารณาการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร เนื่องจากการก่อสร้างอาคารในเขตกรุงเทพมหานครอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกฎกระทรวง และประกาศที่เกี่ยวข้องซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด  โดยนำเงื่อนไขค่าหน่วยแรงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพิจารณาเปรียบเทียบและเลือกใช้ค่าหน่วยแรงที่มากกว่า ในการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ ภายใต้การให้มีการรับรองและยืนยันอย่างครบถ้วน ทั้งจากผู้ออกแบบก่อสร้าง ผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงผลตอบข้อหารือจากหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้มีวิชาชีพโดยตรงในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าวมีการประกันภัยครอบคลุมวงเงินทั้งหมดของสัญญา

สำหรับกรณีที่มีข่าวเรื่องการปรับแก้ไขแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้ว ในการออกแบบรูปรายการละเอียด ผู้ออกแบบจัดทำตามวิชาชีพวิศวกรรม โดยเสาสี่เหลี่ยมด้านหน้าอาคารสูงสามชั้นมีขนาดกว้างคูณยาว 1.40 x 1.40 เมตร ส่วนชั้น 29 ถึงดาดฟ้า เป็นเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 0.80 เมตร เพื่อรองรับหลังคาตึก ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ และไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่ง สตง. ได้ติดตามตรวจสอบในระหว่างการก่อสร้างอยู่เสมอ

            – การควบคุมงานก่อสร้าง สตง. ได้ดำเนินการ จัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมงานจ้างก่อสร้าง โดย กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงานด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท ซึ่งผู้ควบคุมงานต้องควบคุมงานก่อสร้างและรับรองการทดสอบคุณสมบัติของพัสดุในการก่อสร้างทุกรายการตามแบบรูปรายการ 

ในการดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว  สตง. ได้ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กล่าวคือ สตง. ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ เป็นต้น จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท (คิดเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่า ราคากลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท) นอกจากนี้ สตง. ยังได้แสดงเจตนารมณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  โดยร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต อีกทั้งยังได้ร่วมกับกิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี (ผู้ประกอบการ) จัดพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ สตง. มีความห่วงใยและมีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ประสบภัยและภาคส่วนต่าง ๆ จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าจากเหตุแผ่นดินไหว (อาคารถล่มในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร) รวมถึง หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password