อสส.เห็นชอบ ไม่ยื่นอุทธรณ์ “คดีศาลฎีกาฯ” ยกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” โยกย้าย “ถวิล”
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เห็นชอบไม่ยื่นอุทธรณ์คดีศาลฎีกาฯยกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” คดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” พ้นเก้าอี้เลขาฯ สมช. เเจ้ง ป.ป.ช.ทำความเห็นต่อไป
วันที่ 27 มีนาคม 2567 นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุด เห็นชอบควรไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษายกฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีนี้อัยการสูงสุดรับดำเนินคดีอาญา ฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ.ร.ป.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.11/2565
โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเห็นควรไม่อุทธรณ์ และจะได้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบและรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบการพิจารณาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 79 วรรคสอง ต่อไป
นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายเพิ่มเติมอีกว่าตาม พ.ร.ป.ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบและรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบการพิจารณานั้น เมื่อ ป.ป.ช.ทำความเห็นก็จะส่งมาให้ อสส.พิจารณาอีกที ซึ่ง อสส.อาจจะพิจารณาเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ โดย ปปช.ไม่สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ได้เอง
สำหรับคดีนี้อัยการสูงสุด โจทก์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลย ขณะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งโยกย้าย และ ให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 57 วรรคสอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและเชื่อมโยงกับการโอนย้าย พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน และบรรจุแต่งตั้งพลตำรวจเอก เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้ายหรือการให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง.