สสสย. จี้ ‘รบ.เศรษฐา’ ทบทวนเปิดสถานบริการถึงตี 4

สสสย.” ชงจม.เปิดผนึก ผ่านสื่อมวลชน เรียกร้อง “นายกฯเศรษฐา” ทบทวนเปิดสถานบริการถึงตี 4 นำร่อง 5 จังหวัด ก่อนกินรวบทั้งประเทศไทย พร้อมฝากคำถาม รัฐบาลคิดถึงผลกระทบทางสังคมที่จะตามมาแล้วหรือยัง? ชี้! หากเพิกเฉย อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจากคดีอาชญากรรม ความสูญเสียจากอุบัติเหตุ กระทั่ง ส่งผลกระทบถึงสถาบันครอบครัว ระบุ! นโยบายอาจหนุนให้เด็กและเยาวชนมั่วสุมในสถานบันเทิง จี้! รัฐบาลแสดงจุดยืนในการปกป้องเด็กและเยาวชน รวมถึงสถาบันครอบครัว ย้ำ! หากเพิกเฉยอาจถูกสังคมติฉินเหตุคิดแต่เรื่องเศรษฐกิจและเอาใจเฉพาะธุรกิจรายใหญ่  

(อ่านข่าวต่อเนื่อง…เผย! ‘เบอร์ 1’ รบ.เศรษฐา ‘ติดกับดัก’ ค้าเหล้านอก – ชี้! ‘เปิดขายถึงตี 4’ อาจปลุกมหาสงครามต่อต้านรุนแรง! https://yutthasartonline.com/strategies/72521)

นายศักดา แซ่เอียว ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) ได้ทำ จดหมายเปิดผนึก ส่งผ่านสื่อมวลชนถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนการออกมาตรการ นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เรื่อง    ขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนการออกมาตรการ นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์

เรียน   นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี      

            รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และคณะบริหารประเทศ ท่ามกลางความท้าทายจากปัญหาภายนอกจากวิกฤตโควิด 19   ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก การ ท่องเที่ยว ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมกันนั้นยังมีการเรียกร้องกดดันจากภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ให้ออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งเสียงของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงเร่งรัดออกมาตรการ นโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่ามีเป้าหมายไปที่ความอยู่รอดในทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญจนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดการมองในมิติอื่นๆ ที่รอบด้านโดยเฉพาะผลกระทบในทางสังคม์ก

            เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) ได้ติดตามการบริหารประเทศของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องและเข้าใจในข้อจำกัดของรัฐบาลที่ทำให้การผลักดันนโยบายต่างๆอาจจะมีปัญหา  อุปสรรคด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาของคนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะมีผลกระทบไปยังภาพรวมของประเทศได้หากไม่มีการศึกษาผลดีผลเสียและผลกระทบอย่างรอบด้าน เช่นขยายเวลาการเปิด   ผับ บาร์ สถานบันเทิงไปถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่องจังหวัดท่องเที่ยว ที่ล่าสุดมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มเวลาและสถานที่ให้มากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจแอลกอฮอล์ได้เรียกร้องให้ยกเลิกเวลาห้ามขายแอลกอฮอล์ ส่วนพรรคการเมืองมีการเสนอ แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อยกเลิกมาตรา 32 ที่ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) ได้ประชุมหารือกันแล้วมีมติร่วมกันขอยื่นข้อเสนอเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

               1. การขยายเวลาเปิดผับบาร์สถานบันเทิงได้ถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด คือ กทม.ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่  เกาะสมุย .สุราษฎร์ธานี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ก็ขาดการมองในมิติผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเรื่องความรุนแรง คดีอาชญากรรม การเกิดอุบัติจากการดื่มแล้วขับ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกำหนดให้สถานบริการวัดแอลกอฮอล์ลูกค้าหากเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต้องจัดที่พักคอย หรือหาคนขับรถแทนหรือหารถส่งลูกค้าก็ตาม นอกจากนี้หากศึกษางานวิจัยจากหลายประเทศที่มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการก็พบว่าประเทศออสเตรเลียมีการทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น จำนวนอุบัติทางถนนเพิ่มขึ้น หรืออย่างประเทศนอร์เวย์ข้อมูลจาก 18 เมืองที่ขยายเวลาเพิ่ม 1 ชั่วโมงมีการทำร้ายร่างกายเพิ่ม 16 % และที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ขยายเวลาเพิ่มขึ้น 2 ชั่วโมงพบว่าการขยายเวลาเพิ่มขึ้นแต่ละชั่วโมงจะเพิ่มอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้น 34% และล่าสุดรัฐบาลคิดจะขยายเวลาและขยายพื้นที่ในการเปิดสถานบริการมากขึ้นทั้งๆที่ยังไม่ถึง 3 เดือน ซ้ำยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าผลดีผลเสียเป็นอย่างไร เราเห็นว่ารัฐบาลควรจะรอผลการศึกษาข้อดี ข้อเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งมีสถาบันวิชาการกำลังศึกษาในเรื่องดังกล่าวและจะมีผลสรุปในเดือนมีนาคม 2567 นี้แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อหรือควรจะยุตินโยบายดังกล่าว

            2. การเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีของธุรกิจแอลกอฮอล์และความพยายามของพรรคการเมืองให้ยกเลิกความในมาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันหรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2558 ที่ระบุว่าห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 -14.00 น.และ17.00-24.00น. ถ้ายกเลิกข้อห้ามดังกล่าวจะทำให้ขายแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีจุดขายแอลกอฮอล์ทั่วประเทศถึง 580,000 แห่งอยู่แล้ว รัฐบาลควรจะต้องย้อนกลับไปศึกษาถึงเจตนารมณ์ในการกำหนดเวลาห้ามขายว่าเป็นการป้องกันการเข้าถึงแอลกอฮอล์ทุกเวลาโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและสตรี  ลำพังกำหนดเวลาห้ามขายที่มีอยู่แล้วก็ยังมีการลักลอบหรือแอบขายอยู่ ตลอดเวลา โดยเฉพาะร้านเล็กๆ ในชุมชุนหรือร้านโชว์ห่วย ทางที่ดีรัฐบาลควรกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่น่าจะดีกว่า

           3. การเสนอร่างกฎหมายของพรรคการเมืองต่างๆในการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ.2551 มาตรา  32 เพื่อยกเลิกการห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งการโฆษณาหมายรวมถึง การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้าและให้หมายรวมถึงการสื่อสารการตลาดด้วยเพื่อให้มีการโฆษณาได้นั้น  รัฐบาล พรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ควรคิดใคร่ครวญเรื่องนี้ใหม่อย่างจริงจัง เพราะการห้ามโฆษณาเป็นสิ่งที่มีข้อพิสูจน์จากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยป้องกันการเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้อย่างมีนัยสำคัญ หากการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาก็จะยิ่งเป็นการจูงใจ ให้ให้เด็ก เยาวชน สตรี เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น

           4.การดำเนินนโยบายต่างๆของรัฐบาลควรจะต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ม.58 ที่กำหนดให้การดำเนินการใดๆ ของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการถ้าการนั้น อาจมีผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งทาง สสสย. เห็นว่าทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้ดำเนินการอย่างครบถ้วน

           เวทีระดมความเห็นว่าด้วยปัญหาจากนโยบายขยายเวลาจำหน่ายสุรา ที่จัดโดย มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส. )และเครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา จึงตั้งคำถามไปยัง นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน คณะรัฐมนตรีและพรรคเมืองต่างๆ ว่า ท่านได้คิดถึงผลกระทบทางสังคมที่ตามมา ทั้งเรื่องความรุนแรงจากคดีอาชญากรรม ความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ซึ่งจะมีผลกระทบไปถึงสถาบันครอบครัวที่อาจสูญเสียเสาหลักจากอุบัติเหตุดื่มแล้วขับ หรือการที่เด็กและเยาวชนอาจเข้าไปมั่วสุมในสถานบันเทิงทั้งๆ ที่อายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนดหรือยัง การแสดงจุดยืนในการปกป้องเด็กและเยาวชนรวมทั้งสถาบันครอบครัวจึงเป็นสิ่งสังคมคาดหวังจากผู้แทนของประชาชน ไม่อย่างนั้น จะถูกสังคมติฉินได้ว่าท่านคิดแต่เรื่องเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวและคิดแต่จะเอาใจแต่ธุรกิจรายใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น.

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและหวังว่าจะได้รับความกรุณาจากท่านใคร่ครวญเรื่องนี้อีกครั้ง

ขอแสดงความนับถือ

( นายศักดา  แซ่เอียว  )     

ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password