เปิดคำพิพากษา ศาลปกครอง สั่งเพิกถอน “ใบสั่ง-ค่าปรับจราจร” ย้อนหลังถึงปี 63
เฮลั่นทั่วไทย หลัง ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนประกาศ ตร. เรื่องกำหนดแบบใบสั่งและค่าปรับใบสั่งจราจร พ.ศ.2563 พิพากษาเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รอ 30 วันพ้นระยะอุทธรณ์
วันที่ 6 ต.ค. 2566 ศาลปกครองกลาง เผยแพร่คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นคดีที่ นางสุภา โชติงาม (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งผู้ฟ้องคดี ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ 1. เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และ 2.ทุเลาการบังคับตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ศาลปกครองกลางได้รับพิจารณาคดีและพิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น ดังนี้
1.ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 เป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลได้อ้างอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พรบ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 , ประมวลกฎหมายอาญา , ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญ สรุปใจความได้ว่า การกำหนดแบบใบสั่งโดยทำให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจได้ว่าตนเป็นผู้มีความผิด และต้องชำระค่าปรับ โดยมิอาจโต้แย้งหรือดำเนินการประการอื่นได้ และยังมีลักษณะยืนยันว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 29 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศการดังกล่าวจึงเป็นการออกกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 เป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลได้อ้างอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติวิธีทางปกครอง พ.ศ.2539 และ พรบ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 สรุปใจความได้ว่า การกำหนดค่าปรับตายตัวล่วงหน้าโดยเจ้าหน้าที่มิอาจใช้ดุลพินิจในการเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสม ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับตามความเหมาะสมแห่งพฤติการณ์ กรณีนี้จึงขัดหรือแย้งกับ มาตรา 140 วรรคสี่ แห่งพรบ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.จราจรทางบก(ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 จึงเป็นการออกกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุปศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอน ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 20 ก.ค.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษามีความเห็นแย้งของตุลาการหนึ่งท่านที่ระบุว่า กฎดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย โดยสรุปเหตุผลว่า การไม่ระบุข้อความให้โต้แย้งได้ ไม่ใช่การตัดสิทธิโต้แย้งของผู้รับใบสั่ง เนื่องจากหากพ้นกำหนดแล้วผู้รับใบสั่งยังไม่ไปชำระ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการฟ้องคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้รับใบสั่งมีสิทธิโต้แย้งได้เมื่อคดีมาสู่ศาล จึงมิใช่การตัดสิทธิ
ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เนื่องจาก กฎหมายระบุให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่มีคำพิพากษา หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ดำเนินการอุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าว ถือว่าคดีสิ้นสุด ต้องบังคับตามที่ศาลปกครองกลางพิพากษา
ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งประการคือ เมื่อคำพิพากษามีผลย้อนหลัง นั่นอาจจะหมายความว่า ใบสั่งทั้งหมดที่ออกมาแล้วถือว่าเป็นโมฆะ คือ ไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น ฉะนั้นผู้รับใบสั่งที่จ่ายค่าปรับไปแล้วควรจะต้องได้รับค่าปรับคืนมา จึงเป็นเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องพิจารณาหาทางออกให้เหมาะสม.