กรมศุลฯโต้กลับสื่อดัง ระบุ! GSP ชี้ชัดเป็นทุเรียนลอบนำเข้า จ่อฟ้องเชือดสื่อเสนอข่าวเท็จ
อธิบดีกรมศุลกากร นำแถลงโต้สื่อใหญ่ ปมจับทุเรียนลักลอบนำเข้ากว่า 8.7 ตันมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ยันมีหลักฐานเด็ด! ใช้ GPS ตรวจสอบเส้นทางรถขนทุเรียน เห็นชัด! วนเวียนแถบด่านอรัญฯ จ.สระแก้ว ยัน จ.จันทบุรี ย้ำ! ไม่ใช่ทุเรียนศรีสะเกษ ระบุ! การให้ข้อมูลเท็จแก่ จนท.รัฐ ผิดอาญาหนัก พร้อมเดินหน้าฟ้องดำเนินคดีสื่อใหญ่-เล็ก ตีข่าวผ่านออนไลน์ทำภาพลักษณ์เสียหาย ยืนยันทำถูกต้อง หวังปกป้องทุเทียนเถื่อนสวมตอเป็นทุเรียนไทย ชี้! หากไม่เร่งรัดดำเนินการ ทุเรียนคุณภาพต่ำอาจกระทบการส่งออกของไทย แถมอาจทะลักเข้าหนักกว่าเดิมอีก
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 มิถุนายน 2566 หลังจาก สื่อกระแสหลัก “สถานีโทรทัศน์ – รายการเล่าข่าวเช้าชื่อดัง” ช่องหนึ่ง ได้นำเสนอข่าวเชิงลึกกรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านศุลกากรอรัญประเทศจับกุมทุเรียนลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท โดยนำเสนอข่าวทำนอง เจ้าหน้าที่ศุลกากรฯ อาจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากทุเรียนดังกล่าวไม่ใช่ทุเรียนลักลอบนำเข้าฯ แต่เป็นทุเรียนของเกษตรกรใน จ.ศรีษะเกส ขณะเดียวกัน ยังได้นำสินค้าของกลางดังกล่าวออกไปจำหน่ายจนเกือบหมดนั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 14.30 น. วันเดียวกัน ณ ศูนย์แถลงข่าว อาคาร 1 ชั้น 2 กรมศุลกากร นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีฯ นายศศิน ปงรังสี ผอ.สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 และ นายประพันธ์ จันทร์ไทยศรี นายด่านศุลกากรอรัญประเทศ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีดังกล่าว โดย นายพชร ย้ำว่า ทุเรียนที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านศุลกากรอรัญประเทศจับกุมมานั้น ไม่ใช่ทุเรียนจาก จ.ศรีสะเกษ เนื่องจากมีหลักฐานเส้นทางการเดินทางของรถบรรทุกทุเรียนคันดังกล่าว มีการเดินทางระหว่าง จ.จันทบุรี – อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไม่ได้เดินทางไปถึง จ.ศรีสะเกษ ตามที่ผู้แสดงตนว่าเป็นเจ้าของทุเรียนล็อตดังกล่าวอ้างถึงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ การจับกุมจับกุมทุเรียนลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านครั้งนี้ เป็นผลมาจากการชี้เบาะแสของสายลับที่แจ้งรายละเอียด จนนำไปสู่การจับกุมทุเรียนดังกล่าว เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่าน ณ บริเวณหน้าโรงพยาบาล วังสมบูรณ์ ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ต่อมาได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกจับกุมว่า ตนเป็นคนขับรถรับจ้าง และได้นำรถบรรทุก 6 ล้อคันดังกล่าว มารับทุเรียนบริเวณหลังวัดเขาน้อย ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีชาวกัมพูชาเป็นผู้ขนถ่ายทุเรียนขึ้นรถให้ เพื่อนำส่งไปยังปลายทาง คือ ล้งใน จ.จันทบุรี โดยไม่มีเอกสารการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
กระทั่ง ช่วงบ่ายวันที่ 23มิถุนายน ได้มีหญิงสาวมาแสดงตนเป็นเจ้าของทุเรียน และได้ให้การรับสารภาพว่าได้รับซื้อทุเรียนมาจากชาวกัมพูชาโดยทราบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยเจ้าของสินค้าให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเจ้าของสินค้าส่งงานคดี ด่านศุลกากรอรัญประเทศเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“ที่อ้างในภายหลังว่าทุเรียนดังกล่าวได้รับซื้อมาจาก จ.ศรีสะเกษนั้น กรมศุลกากรได้ตรวจสอบเส้นทางผ่านระบบ GPS ของรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว พบว่าในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน รถยนต์คันดังกล่าวมิได้มีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ แต่ได้มีการใช้รถอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและสระแก้วเท่านั้น” อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำและยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้เข้าจับกุมโดยสุภาพ มิได้มีการขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด และเจ้าของสินค้าก็มาแสดงตนยอมรับด้วยตนเอง อีกทั้ง ยังได้มีการบันทึกคำให้การโดยสมัครใจตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ รวมถึงผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของทุเรียนได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภอ.คลองลึก โดยมิได้โต้แย้งการจับกุม หรือการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางเท่านั้น
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวอีกว่า การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่เจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นคดีอาญาที่มีความผิดร้ายแรง มากกว่าการลักลอบนำเข้าทุเรียนผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ กรมศุลกากรได้ส่งเรื่องต่อไปให้เจ้าพนักงานสอบสวน สภอ.คลองลึก รับไปดำเนินการเป็นคดีอาญาต่อไป โดยมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 4 เท่า หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งกรมศุลกากรยังคงเป็นโจทก์ฟ้องร้องในคดีนี้
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังจะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่มีเจตนาและจงใจทำการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ และสร้างความเสียหายต่อภาพของกรมศุลกากร เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างและยืนยันถึงความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรจนถึงที่สุด
“สิ่งที่กรมศุลกากรรู้สึกเป็นห่วงอย่างมาก คือ การลักลอบนำเข้าทุเรียนผิดกฎหมายและมีคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อน ที่แอบนำเข้ามา “สวมตอ” เป็นทุเรียนไทย แล้วนำส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย ต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยโดยรวม จึงต้องเร่งดำเนินการป้องกันและปราบปราม รวมถึงจับกุมอย่างหนัก เพราะเกรงว่าอาจมีการลักลอบนำเข้าทุเรียนล็อตใหม่มาตามแนวตะเข็บชายกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดพื้นที่การดูแลของด่านศุลกากรอรัญประเทศ ที่มีระยะทางมากว่า 165 กม.” นายพชร ย้ำและว่า ส่วนการนำทุเรียนไปจำหน่ายนั้น เป็นไปตามข้อกฎหมาย เนื่องจากเป็นของกลางที่ผู้ถูกจับกุมยอมรับสารภาพและมีการลงบันทึกประจำวันแล้ว อีกทั้งเป็นสินค้าเกษตรที่อาจเน่าเสียได้ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้กรมศุลกากร สามารถนำจำหน่ายภายในหน่วยงาน และ/หรือ นอกหน่วยงานที่ส่วนราชการ โดยรายได้ทั้งจะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
อนึ่ง กรมศุลกากรยังคงดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตภายในประเทศ และเป็นการป้องกันการสวมสิทธิผลไม้ไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการที่สุจริตต่อไป.