โควิดฯทำ ‘เด็กไทย-วัยทำงาน’ ฟุ้ง! จมบ่อนพนันออนไลน์พุ่งกว่า 3 ล.คน

เปิดผลวิจัย พบ “เยาวชน-คนวัยทำงาน” เล่นพนันออนไลน์ช่วงโควิด เพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านคน ชี้เด็กนักเรียน-นักศึกษาเห็นพนันออนไลน์เป็นแค่เกมที่สนุกตื่นเต้นแถมมีเงินรางวัล ช็อกนักเรียนครึ่งหนึ่งมีทัศคติที่ดีต่อการเล่นพนัน เมื่อพูดถึงพนันมักคิดถึงพนันออนไลน์ก่อน เผยนักเรียนที่มีปัญหาติดพนันเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าถึง 3 เท่า สภาพแวดล้อมเด็กเต็มไปด้วยพนัน  เสนอสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้เท่าทันจากคนผ่านประสบการณ์จริง ด้านสื่อมวลชนเสนอแก้กฎหมายให้ทันสมัยมีเจ้าภาพหลัก จัดการเด็ดขาดเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวพนันออนไลน์

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการนำเสนอ 3 ผลงานวิจัย เรื่อง “เปิดพฤติกรรมเยาวชนไทย…รู้เท่าทันภัยพนัน ?” เมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2566  ณ โรงแรมแมนดาริน  สามย่าน กรุงเทพ โดยมี นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์  สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หัวหน้าทีมวิจัย เรื่อง การรู้เท่าทันสื่อชวนพนันออนไลน์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาสาเหตุ, แนวทางการรู้เท่าทัน และข้อเสนอเชิงนโยบายในการรู้เท่าทันสื่อชวนพนันออนไลน์ โดยมีทั้งการสุ่มเลือกนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่และจบไปแล้วที่มีพฤติกรรมเล่นพนันออนไลน์ 12 คนและยังได้สอบถามนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีใน มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนอีก 400 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุการเล่นพนันออนไลน์นั้นในด้านความรู้ยังไม่มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพียงพอไม่คิดว่าเป็นการเล่นพนันแต่เป็นเพียงเกมออนไลน์ที่มีเงินรางวัลและมีทัศนคติว่าเป็นเพียงการเสี่ยงโชคลุ้นรางวัล  ตอบแทน ทำให้สนุกตื่นเต้น และสิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมการการเล่นพนันออนไลน์เพราะพบเห็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และอยู่ในชุมชนที่เล่นพนันออนไลน์จึงมองว่าเป็นเรื่องปกติ

ส่วนการรู้เท่าทันสื่อชวนพนันออนไลน์ นั้น นักศึกษาค่อนข้างรู้ดีว่าสื่อโฆษณาเกี่ยวกับการชวนเล่น พนันออนไลน์นั้น มีหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เป็นเพียงข้อเสนอให้ผู้รับสารเลือกเองว่าจะเข้าไปเล่นหรือไม่ โดยไม่ได้บังคับขู่เข็ญ ดังนั้น การที่นักศึกษาจะเข้าไปเล่นพนันออนไลน์ ซึ่ อาจอยู่ในรูปแบบของเกมก็เป็นเพียงความอยากลองอยากรู้ของตัวนักศึกษาคนนั้น และคิดว่านักศึกษามีอิสระที่จะคิดทำอะไรตามที่ตนเองคิดว่าจะได้เงินมา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ที่ตนเองต้องการและไม่ คิดว่าการใช้กฎหมายเข้ามาจัดการกับการเล่นพนันออนไลน์ของวัยรุ่นนักศึกษาจะได้ผล เพราะนักศึกษาไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือสร้างความเสียหายใดๆ เพียงแค่การเข้าไปเล่นเกมและหากฝีมือดี โชคดีก็ จะได้เงินรางวัลตอบแทนกลับมาเท่านั้น  จึงไม่คิดว่าต้องเกรงกลัวกฎหมายรวมถึงคิดว่ามีการเก็บส่วยกับ เจ้าของเว็บพนัน จึงเชื่อว่าไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการเพื่อติดตามจับกุมหรือลงโทษมากนัก 

สำหรับ ข้อเสนอเชิงนโยบายในการรู้เท่าทันสื่อชวนพนันออนไลน์เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อนักศึกษา ระบุว่า จะใช้รูปแบบการสอนจากครูอาจารย์นั้น ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก  เพราะอาจมีความรู้ในเรื่องพนันออนไลน์ไม่เท่ากับนักศึกษาด้วยซ้ำ ควรใช้การเรียนรู้ที่สนุกสนานผ่านเกมที่วัยรุ่นชอบเล่นกันและเป็นการเรียนรู้สร้างความเข้าใจและความตระหนักในปัญหาการพนันออนไลน์ในรูปแบบของความบันเทิงจะดีกว่า รวมทั้งควรให้คนที่เคยมีประสบการณ์จริงยิ่งถ้าเป็นคนดังหรือคนมีชื่อเสียงในสังคมในด้านต่างๆ  มาพูดเล่าประสบการณ์จริงของตนเองและบอกถึงข้อดีข้อเสียและข้อควรระวังให้กับนักศึกษา น่าจะได้รับความสนใจและใส่ใจและน่าเชื่อถือรวมทั้งเรียนรู้แบบสนุกสนานมากกว่า ส่วนข้อเสนอเมื่อพบผู้ติดพนันสิ่ง ที่ควรทำคือนึกถึงสิ่งดีๆในตัวเขา มีสติใจเย็นบอกว่าเขาจะต้องได้รับการช่วยเหลือ ดูแลด้านจิตใจเป็นพิเศษ  จัดตารางเวลาการนอนและใช้อินเตอร์เน็ตที่เหมาะสม กำหนดขอบเขตการใช้เงิน เป็นต้น แต่สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ ตำหนิ บ่น ตัดออกจากครอบครัว คาดหวังว่าเขาจะหายจากการติดพนันในทันทีเมื่อหยุดเล่นพนัน  รวมทั้งการใช้หนี้แทนหรือการประกันตัวเมื่อถูกดำเนินคดีและปิดบังหรือไม่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของตัวเองและครอบครัว

ผศ.ดร.ไพฑูรย์ สอนทน อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์กับปัญหาการพนัน ของนักเรียนมัธยมศึกษา จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการวิจัยนอกจากต้องการดูความชุกของการเล่นพนันออนไลน์และออฟไลน์แล้ว ยังต้องการวัดทัศนคติต่อการเล่นพนันและภาวะซึมเศร้า รวมทั้งการ ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นพนันกับภาวะซึมเศร้า โดยกลุ่มเป้าหมายเป็น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในโรงมัธยม 4 แห่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ 1 แห่ง  ขนาดใหญ่ 1 แห่ง ขนาดกลาง 1 แห่ง ขนาดเล็ก 1 แห่ง  จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 3,744 คน  ส่วนใหญ่ร้อยละ 42.9  อายุ 14-15 ปี พบว่า ทัศนคติในเรื่องการพนันน่าตกใจที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 50.1 มีทัศนคติที่ดีต่อการเล่นพนัน มองว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นการพนันมีคนเห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งร้อยละ 33 แต่ก็มีคนไม่แน่ใจถึงร้อยละ 44.7 ส่วนการซื้อหวยใต้ดินไม่ถือเป็นการพนันมีคนไม่เห็นด้วยรวมร้อยละ 41.1 แต่ก็มีคนไม่แน่ใจถึงร้อยละ 47.8 อย่างไรก็ตามผลวิจัยยังพบข้อมูลที่น่าดีใจคือนักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งรวมกันถึงร้อยละ 62.10 หากจะห้ามเล่นการพนันอย่างสิ้นเชิงและยังพบว่านักเรียนร้อยละ 83.0 ไม่เคยเล่นพนันออนไลน์  รวมทั้งนักเรียนมองว่าตัวเองไม่มีปัญหาจากการพนันเลยถึงร้อยละ 89.2 ส่วนคนที่เล่นการพนันออนไลน์ร้อยละ 82.5 เล่น1-4 ครั้งต่อวัน เหตุผลในการเล่นร้อยละ 39.5 เพราะสะดวกเล่นได้ทุกที่ รองลงมา ร้อยละ 28 เพื่อนชวนเล่นเพื่อเข้ากลุ่ม ช่องทางในการเล่นผ่านไลน์ / แอพแชทต่างๆ และเล่นโดยตรงกับเว็บไซต์พนันพอๆกันที่ร้อยละ 54.8 ส่วนอุปกรณ์ที่ใช่เล่นส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือ

ด้านปัญหาและผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน นั้น พบว่า นักเรียนที่มีความถี่ในการเล่นพนันออนไลน์เล่นเป็นบางครั้งมีความเสี่ยงต่อปัญหาการพนัน 3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ไม่เล่นการพนันออนไลน์ นักเรียนที่มีความถี่ในการเล่นพนันออนไลน์เล่นเป็นประจำมีความเสี่ยงต่อปัญหาการพนัน 6 เท่าเมื่อเทียบผู้ไม่เล่นการพนันออนไลน์ ส่วนนักเรียนที่มีความถี่ในการเล่นพนันออฟไลน์  ไม่มีความเสี่ยงต่อปัญหาการพนัน และผู้ที่มีปัญหาการติดพนันมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ไม่มีปัญหาการพนัน ที่น่าตกใจคือเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาของจังหวัดเพชรบูรณ์  มีภาวะซึมเศร้าปานกลางถึงรุนแรง สูงถึงร้อยละ 29.7 และพบว่า นักเรียนมีแนวโน้มที่จะเล่นการพนันเมื่อตนเองมีความรู้สึกเหงา เศร้าหรือมีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนั้น เมื่อดูผลกระทบต่อสุขภาพที่มีมากกว่าปัญหาการพนัน พบว่านักเรียนมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพที่น่าตกใจคือมีนักเรียนถึงร้อยละ 53.6 ที่รับประทานอาหารหวาน / น้ำอัดลมบ่อยๆ นอกจากนั้นร้อยละ 17.8 ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 8.7 สูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 5.8 รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ร้อยละ 4.3 สูบบุหรี่มวน ร้อยละ 2.5 สูบกัญชา  ผลวิจัยจึงชี้ชัดเจนว่าเด็กนักเรียนมีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างมากและขณะเดียวกันก็ยังมีความชุกในการเล่นพนันออนไลน์ ในระดับมัธยมศึกษาอยู่ในระดับสูงจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติ หาแนวทางลดการ เข้าถึงและลดผลกระทบโดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า อยากให้โรงเรียนเฝ้าระวังและคัดกรองปัญหาในเด็กนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

นายอุบล สวัสดิ์ผล หัวหน้าทีมวิจัยเรื่อง วัคซีนต้นกล้า..การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เท่าทันการ พนันออนไลน์ในโรงเรียนกีฬา กล่าวว่า ทีมวิจัยเลือกพื้นที่วิจัยแบบเจาะจงคือโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ผ่านแกนนำนักวิจัยสภานักเรียน 25 คน  กลุ่มนักเรียน ม.1-ม.6 จำนวน 569 คนและครูแกนนำ 8 กลุ่มสาระ 20 คน เพื่อศึกษามุมมอง สถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบ รวมทั้งการทดลองกระบวนการเรียนรู้เท่าทันเพื่อวิเคราะห์เงื่อนไขที่จะนำไปสู่การ ป้องกันและลดผลกระทบ รวมทั้งการผลักดันให้เกินมาตรการหรือนโยบายโรงเรียนกีฬาปลอดพนัน โดยการหาวิธีการให้ความรู้เพื่อให้เด็กได้รู้เท่าทันการพนันการพนันออนไลน์ผ่านการตั้งคำถามหลัก 4 คำถามคือ หนึ่ง… เมื่อได้ยินคำว่าพนันเรานึกถึงอะไร?  สอง… มีใครที่เกี่ยวข้องกับการพนันและเกี่ยวข้องอย่างไร? สาม… ผลที่เกิดขึ้นจากพนันออนไลน์ และ สี่… ทำไมเราต้องรู้เท่าทันพนันออนไลน์ พบว่า ประเด็นเรื่องทัศนคติเมื่อพูดถึงคำว่าเล่นพนันนักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 44.3 นึกถึงพนันออนไลน์มากที่สุด ชนิดของพนันออนไลน์ที่คิดถึงมากที่สุดคือคำว่าสล็อต สล็อตPG บาคารา ไพ่ ยิงปลา เสือมังกร ไฮโล  มีเพียงร้อยละ  24.5 ที่นึกถึงกฎหมาย ศีลธรรมและผลกระทบ  และมุมมองจากนักเรียนหลายคนในการสนทนากลุ่มย่อยเห็นว่าลอตเตอรี่ ไม่ใช่การพนันเพราะ  ซื้อขายกันเป็นปกติ ขายเกินราคาก็ไม่ถูกตำรวจจับ 

ส่วน การรับรู้พฤติกรรมและการเข้าถึงการพนันของเด็กนักเรียนในโรงเรียนและชุมชน นั้น ปรากฏว่า มีนักเรียนถึงร้อยละ 79.5 รู้ว่ามีการเล่นพนันในโรงเรียน เช่น ครูซื้อหวย ร้อยละ 78 รู้ว่ามีคนเล่นพนันในชุมชน เช่น ป้าข้างบ้านเล่นไพ่ ลุงเล่นไฮโล ร้อยละ 53.4 เคยรับรู้ว่าผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวเล่นพนัน เช่น พ่อแม่ซื้อหวย พี่เล่นเกมออนไลน์  ส่วนการรู้จักการเล่นพนันส่วนใหญ่ร้อยละ 82.1รู้จากสื่อออนไลน์และเข้าถึงการพนันทั้งออฟไลน์และออนไลน์  ส่วนใหญ่จากช่องทางสื่อออนไลน์ถึงร้อยละ 82.7 สะท้อนให้เห็นชัดเจน ว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อนักเรียนระดับมัธยมมาก นักเรียนมีประสบการณ์เคยเล่นพนันออนไลน์มาหลายประเภททั้งหวยหุ้นไทยและต่างประเทศ ปลากัด แข่งม้า วัวชน ชนไก่  เหตุผลของการเล่นพนันออนไลน์ส่วน ใหญ่ร้อยละ 62.1  เห็นว่าสนุก เพลิดเพลิน ชอบ รู้สึกผ่อนคลาย รองลงมาร้อยละ 21.8 เพราะได้เงินจากการเล่นพนันออนไลน์ 

ผลการวิจัยทำให้เห็นว่าพื้นฐานที่แตกต่างกันของนักเรียนทำให้การนิยามความหมาย การพนันจึงหลากหลาย รวมทั้งรายได้และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารส่งผลให้มุมมองด้านทัศนคติ สถานการณ์การรับรู้ การเข้าถึง พฤติกรรมและผลกระทบจากพนันออนไลน์ มากกว่าการพนันปกติที่เด็กเคยมีประสบการณ์ในอดีต   จึงเสนอแนะว่าควรพัฒนาและจัดการเรียนรู้เพื่อเท่าทันพนันออนไลน์ด้วยเครื่องมือ แผนการเรียนรู้เท่าทันพนันออนไลน์ เป็นการสร้างวัคซีนให้กับนักเรียนที่ได้ผลเชิงประจักษ์  โดยนำกระบวนการกลุ่มเรียนรู้ภายใต้แนวคิด EF หรือ Executive Function คือ ความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรม มาใช้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนในทุกโรงเรียนซึ่งเป็นกระบวนการยับยั้งชั่งใจและสื่อที่ใช้ก็ควร ออกแบบและให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตัวเองในการเอาตัวรอดหรือการมีภูมิคุ้มกันในตัวเองด้วย

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นปีศูนย์ฯได้ทำการสำรวจการพนันออนไลน์ในกลุ่มคนอายุ 15-25 ปี พบว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีนักการพนันหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนมีเวลาอยู่บ้านและเล่นอินเตอร์เน็ตมากขึ้น และเห็นการโฆษณาพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่องประมาณ 44% เห็นแล้วอยากลอง 26% ลองเข้าไปดู 4% ทดลองเล่น และ 1% แชร์ข้อความโฆษณาไปยังสาธารณะ ทำให้การโฆษณาพนันออนไลน์ขยายวงกว้างออกไปอีก เราพบว่า คนกลุ่มนี้เล่นการพนันเกือบ 3 ล้านคน เพราะเล่นง่าย เล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา หาข้อมูลง่าย และคิดว่าสามารถควบคุมตัวเองได้ อยากเล่นหรืออยากหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ประกอบกับบางคนเคยเห็นพ่อแม่เล่น หรือเห็นเพื่อนเล่น โดยเฉพาะการใช้คนมีชื่อเสียงมาชักชวนทำให้คล้อยตามได้ง่าย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการสร้างความตระหนักให้กับคนที่มีชื่อเสียงอย่าชักชวนคนเข้าไปเล่นการพนัน การนำประสบการณ์ของคนที่เคยเล่นการพนันและเห็นปัญหาของเรื่องนี้มาถ่ายทอดให้เกิดการตระหนัก รวมถึงสื่อมวลชนลองคิดวิธีการรณรงค์ในรูปแบบใหม่ๆนำเสนอ ซึ่งศูนย์ฯ ก็พร้อมจะประสานความร่วมมือทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่

นายพิทักษ์เดช ชุมไชโย รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสะท้อนมุมมองของผู้เกี่ยวข้องครั้งนี้ ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนว่า การที่เด็กเห็นโฆษณาบ่อยๆ ทำให้อยากเข้าไปทดลองเล่นการพนัน จนกลายเป็นติดการพนัน ซึ่งไม่ต่างจากการติดเหล้าหรือบุหรี่ เด็กทุกคนรู้ว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องผิด รู้ว่าไม่ดี แต่ทำไมยังเล่น เพราะเขาขาดความตระหนัก เห็นเพื่อนเล่นก็อยากเล่นตาม ประกอบกับระบบโซเชียลทำให้เข้าถึงการพนันได้ง่าย ซึ่งถ้าเราใช้ข้อมูลในเชิงหลักธรรมคำสอนมาแนะนำว่าการพนันไม่ดี เขาอาจไม่สนใจ เมื่อเทียบกับการนำคนที่มีประสบการณ์มาบอกเล่า นั่นคือแนวทางที่สภาฯจะต้องนำไปเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร โดยเฉพาะการสร้างครูไปถ่ายทอดต่อให้กับเด็กอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ด้าน สื่อมวลชน และเยาวชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ว่า เห็นด้วยกับผลการวิจัยที่ว่าสื่อออนไลน์ เป็นทั้งช่องทางการตลาดและชวนเล่นพนันออนไลน์ การสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันจากภัยพนันออนไลน์ควรจะผลักดันเข้าสู่หลักสูตรของสถาบันการศึกษามีรูปแบบและเนื้อหาที่แตกต่างกันตามวัยของเด็ก  แต่สิ่งที่ควรจะต้องรณรงค์และผลักดันควบคู่กันไปกับงานวิชาการคือการเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย โดยเฉพาะการระบุเรื่องพนันออนไลน์เอาไว้ให้ชัดเจน มีหน่วยงานที่ รับผิดชอบหลักเรื่องการแก้ปัญหาปิดช่องทางทั้งในและต่างประเทศและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เอื้อประโยชน์และเกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password