รัฐบาลนำทีมชวนเด็กไทยเลิกสูบฯ ชี้! เปลี่ยนเงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเงินออม ‘30 ปีมีเงินเก็บ 1.8 ล.’

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย! พฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทย กว่าครึ่งขอเงินครอบครัว/พ่อแม่ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าแต่ละปีสูงถึง 26,944 บาท เฉลี่ยเดือนละ 2,245 บาท รัฐบาลดึง สสส. ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์ฯ ชวนคนรุ่นใหม่เลิกเป็นสิงห์อมควัน แล้วเปลี่ยนเงินซื้อบุหรี่เป็นเงินออม ชี้! 30 ปีจะมีเงินเก็บสะสม 1.8 ล้านบาท ช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงของครอบครัวในอนาคต

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดผลสำรวจพฤติกรรมการใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” ของเด็กและเยาวชนไทย พบว่า กว่าครึ่งได้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากครอบครัว สูญเสียเงินซื้อสูงปีละ 26,944 บาท เฉลี่ยเดือนละ 2,245 บาท ห่วงตัวละครผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์มีผลต่อการตัดสินใจ รัฐบาล โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ชวนวัยรุ่นไทยเริ่มต้นปีใหม่นี้ เปลี่ยนเงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเงินออม ชี้ 30 ปี ได้เงินเก็บถึง 1.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทยปี 2565 พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.3% เป็น 17.6% หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ซึ่งผลสำรวจ กลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนใน กทม. จำนวน 400 ตัวอย่าง อายุระหว่าง 13-24 ปี โดยเป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า 56.5% ได้รับเงินจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง 87.75% มีรายได้ระหว่าง 500-2,000 บาท/สัปดาห์ สำหรับเงินที่นำมาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 54.50% ได้จากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ใช้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ยสูงถึงปีละ 26,944 บาท หรือเดือนละ 2,245 บาท 73% ใช้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้า 501-1,000 บาท/สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังพบว่า การที่หน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่กำกับกิจการภาพยนตร์หรือละครทางโทรทัศน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ปล่อยให้มีตัวละครในภาพยนตร์หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากถึงมากที่สุด 16.25% และปานกลาง 38.25% เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็น 54.50%

“นับเป็นตอกย้ำได้ว่า สื่อบุคคลอย่างผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์หรือตัวละครในภาพยนตร์มีผลต่อการตัดสินใจของเด็กและเยาวชน “รัฐบาล เห็นความสำคัญของการวางแผนทางด้านการเงินของคนรุ่นใหม่และการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จึงขอใช้โอกาสเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2568 เชิญชวนเด็กและเยาวชนไทยเริ่มต้นคนใหม่ ในปีใหม่ ตามแนวคิด “Happy New Life” คือ มีความสุขในชีวิตทั้งมิติสุขภาพและมิติทางด้านการเงิน ด้วยการเปลี่ยนเงินที่ซื้อบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าและสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายมาเป็นเงินออมและลงทุนเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงของครอบครัวในอนาคตต่อไป” นายอนุกูล ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password