ยธ.ดึง กสม.คุยราชทัณฑ์ ปรับเกณฑ์ดูแลผู้ต้องขัง อิง ‘รธน. – หลักมนุษยชนสากล’

“สมศักดิ์” เผยเตรียมเชิญ กสม. ดูร่างกฎกระทรวงเพิ่มหลัก House Arrest กับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี หลังให้กรมราชทัณฑ์ปรับให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญ-สิทธิมนุษยชนสากล

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ได้หารือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยได้มีการเสนอหลักการสำคัญ ให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีอาญาเป็นไปตามหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คือ การสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ปฏิบัติเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ควบคุมหรือคุมขังกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี คำขอประกันต้องได้รับการพิจารณา ประกันต้องไม่มากเกิน และการไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) กำหนดว่า ห้ามควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็น การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวจะกระทำได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่า…จะหลบหนี จะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และเป็นอุปสรรคหรือความเสียหายต่อการสอบสวน ซึ่งศาลอาจสั่งให้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่อาจมีข้อจำกัดบางประการ

ผมได้ขอให้ กรมราชทัณฑ์พิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 89/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น โดยให้รับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบ โดยอาจเพิ่มเติมหลักการให้สามารถทำการควบคุมตัวที่บ้านได้ด้วย (House Arrest) ให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาทบทวนการกำหนดพื้นที่เรือนจำให้เหมาะสมตามลักษณะของผู้ต้องขังและประเภทของคดี และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม โดยสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญ กสม. มาหารือและช่วยดูร่างกฎกระทรวงที่เราได้ปรับปรุงด้วย เพื่อให้ออกมาสมบูรณ์และรวดเร็วที่สุด รมว.ยุติธรรม ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password