บอร์ด SME ไฟเขียวแผนปฏิบัติการปี 2567- ขยายโอกาส SME ในตลาดภาครัฐให้ได้ 50%
บอร์ด SME เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ SME ปี 2567 เพิ่มเติม เพื่อช่วย SME รายเล็ก ๆ ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง วงเงิน 30 ล้านบาท พร้อมขยายโอกาสให้ SME มีส่วนแบ่งในตลาดภาครัฐเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้ SME เพิ่มขึ้นกว่า 95,000 ล้านบาทต่อปี
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประจำปี 2567 รวมถึงโครงการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชน และรายย่อยเพื่อเข้าถึงโอกาสทางการตลาดและช่องทางการตลาด
สำหรับแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี 2567 สสว. ได้บูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชน จาก 14 กระทรวง 53 หน่วยงาน ในการจัดทำข้อเสนอโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ตามแนวทางของแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการส่งเสริม SME ของประเทศ รวมจำนวน 163 โครงการ วงเงินงบประมาณ 6,244.70 ล้านบาท และนำเสนอให้สำนักงบประมาณ ใช้เป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SME ประจำปี 2567 โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะมุ่งช่วยเหลือ SME ให้อยู่รอดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เพิ่มขีดความสามารถให้ปรับตัวได้ทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง
รวมทั้งยกระดับ SME ที่มีศักยภาพและกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งหลังจากบอร์ดส่งเสริม SME ให้ความเห็นชอบแล้ว สสว. จะนำแผนปฏิบัติการฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานส่งเสริม SME ต่อไป
ในส่วนโครงการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชนและรายย่อยเพื่อการเข้าถึงโอกาสทางการตลาดและช่องทางการตลาด งบประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการประจำปี 2566 เพิ่มเติม โดย สสว. จะส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain ให้สามารถเดินหน้ากิจการตอบรับกับภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวได้ทันการณ์ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการทุกกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการดำเนินงานจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางธุรกิจด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ จัดทำหลักสูตรเฉพาะทางและจัดกิจกรรมอบรมความรู้
รวมถึงสร้างโอกาสในตลาดออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้า (Physical Market) ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน สสว. ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (มาตรการ THAI SME-GP) ซึ่งในปี 2565 จนถึงไตรมาส 3 (1 ต.ค.2564-30 มิถุนายน 2565) ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจาก SME มูลค่า 393,284 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.20 ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างรวม
ซึ่งที่ประชุมบอร์ดส่งเสริมฯ ให้ความเห็นว่าเนื่องจากมาตรการนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยขยายโอกาสให้ SME มีขีดความสามารถที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จึงมอบหมายให้ สสว. ประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ จัดซื้อจัดจ้างจาก SME ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จคาดว่าวงเงินที่จัดซื้อจัดจ้างจาก SME จะเพิ่มขึ้นประมาณ 95,000 ล้านบาท/ปี ช่วยให้ SME สามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ สสว. เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์หรืออำนวยความสะดวกให้ SME โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการทบทวนและปรับปรุง กฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ (กีโยตินกฎหมาย)
เนื่องจากปัจจุบันการจะเริ่มต้นทำธุรกิจหลายประเภท จะต้องมีกระบวนการ ขั้นตอน ในการขออนุญาตหรือต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเริ่มดำเนินกิจการได้ ดังนั้นเพื่อให้การประกอบธุรกิจทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น สสว. จึงได้รับมอบหมายให้เสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งจัดให้มีเครื่องมือการประเมินศักยภาพ SME (Credit Scoring) เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยเชื่อว่าปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้หากได้รับการแก้ไขเพื่อลดปัญหา จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเข้มแข็งให้ SME เป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป