คปภ.แก้เกมไว! จี้ติด ‘คดีนายหน้าฯหลอก 57 นศ.’ ถอนใบอนุญาต – เอาผิดหลายกระทง

คปภ.แจงความคืบหน้า! ปม “นายหน้าประกันภัย” หลอกเก็บเบี้ยประกันภัย แต่ไม่จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับให้กลุ่มนักศึกษา ม.ขอนแก่น กว่า 57 ราย ล่าสุด! เอาผิดหลายกระทง “คนกลางประกันภัย” พร้อมเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว เผย! “ต้นสังกัด – ศรีกรุงโบรกเกอร์” เยียวยาเหยื่อครบทุกคน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 เวลา 16.00 น. มี นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวนกว่า 50 คน รวมตัวกัน ณ บริเวณสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวได้รับความเสียหายจากกรณีที่ นายบัณฑิต จำปาแขม นายหน้าประกันวินาศภัย ได้ตั้งโต๊ะรับทำกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และต่ออายุภาษีรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ภายในบริเวณสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว
ต่อมา เมื่อกลุ่มนักศึกษาได้ชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัย นายบัณฑิต ได้ออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้แก่ผู้ขอเอาประกันภัยในนาม บริษัท ศรีกรุงโบรกเกอร์ จำกัด แต่ไม่นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่งให้แก่บริษัทประกันภัย รวมทั้งไม่ดำเนินการต่ออายุภาษีรถประจำปีให้แก่กลุ่มนักศึกษาแต่อย่างใด
ภายหลังได้รับรายงาน นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) มิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ฯ ดังกล่าว จึงได้มีบัญชาให้นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมายและตรวจสอบ นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค นายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี และนางสาววิไลรัตน์ แสงแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด
ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 สำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัย รับข้อร้องเรียน รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้เสียหายในการแจ้งความร้องทุกข์นายบัณฑิต ในความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น โดยมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์นายบัณฑิตฯ ต่อพนักงานสอบสวน จำนวน 57 ราย นอกจากนี้ บริษัท ศรีกรุงโบรกเกอร์ จำกัด ได้เยียวยาความเสียหายโดยการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 57 ราย
ในวันเดียวกันนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น ได้แจ้งข้อกล่าวหากับนายบัณฑิต ว่า การที่นายบัณฑิตรับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย แต่มิได้แจ้งขอเอาประกันภัย และมิได้นำส่งเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัย อันมีผลทำให้ผู้ขอเอาประกันภัยมิได้รับความคุ้มครอง การกระทำของนายบัณฑิตฯ ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการดำเนินงานที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 76/1 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวของนายบัณฑิต ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้นทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และโดยการหลอกลวงดังกล่าวของนายบัณฑิต ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามการกระทำของนายบัณฑิต จึงเข้าข่ายเป็นความผิดฉ้อฉลประกันภัยตามมาตรา 108/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย อีกกรณีหนึ่ง ซึ่ง นายบัณฑิต รับทราบตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดนำมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อโต้แย้งแก้ข้อกล่าวหาข้างต้นอีก
เลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียน จึงมีคำสั่งที่ 27/2568 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยของนายบัณฑิต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 76/1 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ นายบัณฑิตไม่สามารถกระทำการและไม่อาจยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิตและวินาศภัยได้ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 สำหรับความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 108/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 พนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบคดีจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับประเด็นปัญหา คนกลางประกันภัยทุจริตเงินค่าเบี้ยประกันภัย นั้น สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ได้วางแนวทางการดำเนินการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างให้บริษัทประกันภัยกำหนดแนวนโยบายให้การรับชำระเบี้ยประกันภัยจะต้องโอนเข้าบัญชีของบริษัทประกันภัยโดยตรงเท่านั้น หากตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยบุคคลธรรมดา รับชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินสดจากผู้ขอเอาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะต้องมีระบบในการตรวจสอบการรับชำระเงินของตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย โดยให้นำส่งบริษัทประกันภัยภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนไม่นำส่งเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว ให้บริษัทประกันภัยยกเลิกสัญญาแต่งตั้งตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย บุคคลธรรมดา และนำข้อมูลดังกล่าวส่งให้สำนักงาน คปภ. เพื่อบันทึกในระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัยของตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยต่อไป.