รัฐไทยขยายผลสอบ ‘ตึก สตง.ถล่ม!’ เอี่ยว ‘2 บ.จีน’ พันเครือข่าย 37 บ. – บัญชีกลางรุกเช็คยิบอีก 26 โครงการ

กระทรวงพาณิชย์ เจอข้อมูลเด็ด! “2 บริษัท” เอี่ยวอาคาร สตง. ถล่ม! เผยพบเครือข่ายเชื่อมโยง 2 ธุกริจจีน รวมกว่า 37 บริษัท ชงข้อมูลเชิงลึกให้ทั้ง ดีเอสไอและกรมบัญชีกลาง พร้อมลุยสอบต่อ 26 โครงการ ประกาศจับมือ 8 หน่วยงาน รุมเช็กปมปัญหา “นอมินี – วัสดุไม่ได้มาตรฐาน”

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลัง การประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 4 (2/2568) โดยมี นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิด สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ 2 นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมา ได้แก่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด โดยพบว่า ทั้งสองบริษัทมีชาวจีนร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 49% และ 80% ตามลำดับ

เบื้องต้น พบมูลฐานความผิดตามกฎหมายไทยหลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำส่งเอกสารรายละเอียดข้อมูลทางทะเบียนของทั้งสองบริษัทให้แก่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อพิจารณา และขณะนี้ DSI ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ส่งผลให้อาคารสำนักงาน สตง. ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมา โดยการก่อสร้างดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10ฯ ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างวัสดุก่อสร้างจากที่เกิดเหตุ พบว่าวัสดุบางส่วนเป็นของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่านิติบุคคลทั้งสองรายนี้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?

“เรื่องนี้เป็นที่สนใจของสังคม และนายกรัฐมนตรีกำชับให้ดำเนินการให้ถึงที่สุด การเร่งประชุมครั้งนี้เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาคาร สตง. ถล่มลงมา ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10ฯ มีความเชื่อมโยงกับอีก 13 บริษัท และ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล มีความเกี่ยวข้องกับอีก 24 บริษัท รวมเป็น 37 บริษัท ขณะนี้ข้อมูลทั้งหมดได้ถูกส่งมอบให้ DSI เพื่อดำเนินการต่อไป โดยในส่วนของ กรมบัญชีกลาง จะเข้าตรวจสอบการรับงานของ 26 โครงการที่มีปัญหา ซึ่งบางส่วนมีการทิ้งงาน โดยหากพบความผิดปกติอาจพิจารณา ขึ้นบัญชีดำ (Black List) บริษัทที่เกี่ยวข้อง” นายพิชัย ย้ำ
ด้าน นายนภินทร กล่าวว่า ดีเอสไอ ได้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษแล้ว และทุกหน่วยงานต้องนำข้อมูลทั้งหมดให้ DSI ตรวจสอบ โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงเครือข่าย 13 บริษัท พร้อมป้อนข้อมูลให้ DSI
2. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้เกี่ยวข้อง
3. กรมสรรพากร ตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหมด

4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบคุณภาพเหล็กและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้าง
5. กรมการจัดหางาน ตรวจสอบใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว
6. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็ก
7. กรมที่ดิน ตรวจสอบการถือครองที่ดินของคนไทยและต่างชาติ
8.กรมบัญชีกลาง ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง
ขณะเดียวกัน จะมีการตรวจสอบ 14 บริษัทในเครือข่ายว่ารับงานที่ใดบ้าง โดยข้อมูลล่าสุดพบว่ามี 26 โครงการที่เกี่ยวข้อง และอาจมีเพิ่มเติม ซึ่งได้เสนอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและทรัพย์สิน ซึ่งจะตรวจสอบเชิงลึกว่ามีการใช้คนไทยเป็นนอมินีอีกหรือไม่ และโยงใยไปถึงใคร ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งให้ DSI ดำเนินการอย่างเร่งด่วน

สำหรับโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หากพบว่ามีการกระทำผิด จะมีบทลงโทษ ดังนี้
1.กรณีคนไทยถือหุ้นแทนชาวต่างชาติ (Nominee) มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.กรณีคนต่างด้าวดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.กรณีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจต้องห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลสามารถสั่งให้เลิกกิจการ หรือ เพิกถอนการถือหุ้นได้
สำหรับเปิดข้อมูล 2 บริษัทที่ถูกตรวจสอบ พบว่า…
1.บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทสัดส่วนหุ้น: ไทย 51% / จีน 49%ผลประกอบการปี 2566: ขาดทุนสะสม 208,489,056.67 บาท
2.บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 23 ก.พ. 2554 ทุนจดทะเบียน 1.53 พันล้านบาท สัดส่วนหุ้น: ไทย 20% / จีน 80% โดยขณะนี้ทั้งสองบริษัท ถูกตรวจสอบความเชื่อมโยงกับนิติบุคคลอื่นๆ อีก 37 บริษัท โดย DSI เดินหน้าสืบสวนเพิ่มเติม.