พาณิชย์ติดต่อขอเจรจาด่วน! หวังต่อรองสหรัฐ หลังส่อถูกขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเป็น 37%

“พิชัย – พาณิชย์” นิ่งไม่ติด เผย! “ตกใจ” หลังสหรัฐฯประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าฯ ชี้! ไทยถูกเรียกเก็บจริงถึง 37% กระทบ 15 รายการสินค้าไทยเต็มๆ ลั่น! นายกฯพร้อมส่งทีมไทยแลนด์เจรจาสหรัฐ เตรียมเดินทางทันทีที่สหรัฐฯเปิดทาง วางแผน “ลดภาษี เพิ่มนำเข้าในรายการที่ไม่เคยทำมาก่อน พ่วงลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ” เตรียมหารือคลัง เยียวยาเอกชนรับผลกระทบแล้ว

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้ากับประเทศไทย ว่า ตนรู้สึก “ค่อนข้างตกใจ” เพราะเป็นอัตราภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ได้ตั้ง คณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขึ้นมาแล้ว และได้นั่งวิเคราะห์กันว่า สหรัฐฯอาจจะใช้การคำนวณรวมภาษี โดยตั้งไว้ที่ร้อยละ 72 แล้วหารสอง เหลือร้อยละ 36 อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีจริงกับอาจมากกว่านั้น โดยน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 37 และทุกประเทศได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมทั้งประเทศที่ผ่านการเจรจากับสหรัฐฯก่อนหน้านี้ ก็ยังถูกเก็บภาษี  อย่างเวียดนาม ก็ถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 46% และญี่ปุ่น 24%

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติหลังจากนี้ จึงต้องเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ให้ลดภาษีนำเข้าตรงนี้ให้ได้ รวมถึงหาแนวทางเพื่อเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการประสานเพื่อเข้าเจรจาต่อรองกับรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งตนได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา และได้ติดต่อไปทางสหรัฐฯทันทีแล้วว่าไทยอยากเข้าไปเจรจา ย้ำว่า รัฐบาลไทย “ไม่ได้นิ่งนอนใจ” ยืนยันว่า เราได้ดำเนินงานอย่างเต็มที่ และติดต่อกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ ทางคณะทำงานฯ ก็ได้มีการเตรียมข้อมูลไว้แล้วว่าจะเจรจากับสหรัฐอย่างไร

ส่วนผลกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจ GDP ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะไม่รู้ว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร แต่ทิศทางการส่งออกของไทยขณะนี้ยังดีอยู่ และเชื่อว่ายังมีโอกาสต่อรองอีกมาก จากความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่ยังดีอยู่

ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ ประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ขณะนี้ ไทยมีความพร้อมเดินทางทันที หากสหรัฐฯนัดที่ให้เจรจาต่อรอง ซึ่งเรื่องนี้ “นายกรัฐมนตรี” ให้ความสำคัญ ทำงานเป็นทีมไทยแลนด์ และมีเอกอัคราชทูตประจำกรุงวอชิงตันดีซี ก็พร้อมเจรจาหากมีการนัดหมายแบบกระทันหัน

สำหรับ มาตรการที่จะไปเจรจา เบื้องต้นจะมีการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ และการเพิ่มการนำเข้าสินค้าบางรายการ ที่ไทยไม่เคยนำเข้ามาก่อน แต่ยังไม่สามารถเปิดในรายการสินค้าได้ รวมถึงการลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ และให้ความสำคัญกับประเด็นที่สหรัฐฯกังวล โดยมีแนวทาง การสร้างความสัมพันธ์ทางด้านซัพพลายเชนอาหารกับสหรัฐฯ ส่วน อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบหากส่งออกไปสหรัฐสูงสุด ได้แก่ สินค้าเกี่ยวกับโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า ขณะที่ สินค้าเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ  ข้าวหอมมะลิ

ทุกมาตรการ ได้ผ่านการหารือภายใต้คณะทำงานฯ กับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะภาคเอกชนในประเทศ และพิจารณาถึงประโยชน์ในทุกมิติ มั่นใจว่า จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า และมีส่วนสำคัญในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศด้วย ขณะเดียวกัน ในอีกแง่มุม ผู้บริโภคสหรัฐฯเองยังไงก็ต้องบริโภค และการขึ้นภาษีก็ทำทั้งหมดกับประเทศคู่ค้า” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

นอกจากนี้ ทางการไทยยังเดินหน้าหาตลาดใหม่ๆ และใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA)  โดยเฉพาะที่อยู่ระหว่างการเจรจานั้น น่าจะสรุปผลได้เร็วกว่าที่คาดไว้  เพราะทุกประเทศต้องหาบริหารความเสี่ยง โดยหาตลาดใหม่ๆ เช่นกัน ส่วน มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ จะมีการหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย และคาดว่าจะใช้งบประมาณช่วยเหลือจากงบกลาง

สำหรับ สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ 15 อันดับแรก ในปี 2567 ประกอบด้วย 1. โทรศัพท์มือถือ 2. ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ 3. ยางรถยนต์ 4. เซมิคอนดัคเตอร์ 5. หม้อแปลงไฟฟ้า 6. ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7. ชิ้นส่วนรถยนต์ 8. อัญมณี 9. เครื่องปรับอากาศ 10. กล้องถ่ายรูป 11. เครื่องปริ้นเตอร์ 12. วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13. แผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ 14. ข้าว และ 15. ตู้เย็น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password