‘2 มือถือฝังแอปฯเงินกู้’ ถูกสั่งห้ามขายแล้ว – กสทช.จี้ตั้งตัวแทนฯอำนาจเต็มรับผิดไม่จำกัดในไทย
เอาจริง! “กสทช.-สคส.” สั่งระงับการขายโทรศัพท์มือถือ 2 แบรนด์ดัง “OPPO – realme” ในไทยแล้ว หลังแอบฝังแอบฯเงินกู้ Fineasy ในเครื่องโดยผู้ใช้ไม่เต็มใจ ผิดกฎหมายหลายฉบับ พร้อมจี้ให้แต่งตั้ง “ตัวแทนจำหน่าย” มีอำนาจเต็มและรับผิดชอบไม่จำกัดในไทย ชี้! พฤติกรรมนี้ถือเป็นภัยต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
“ตั้งใจมาหลอก” เพลงดังในอดีตของ “เดวิด อินธี” ที่มีเค้าความเป็นเรื่องจริงในสังคมไทย และกำลังถูกวิพากษ์ถึงการกระทำของ 2 บริษัทตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือยี่ห้อ OPPO และ realme ในประเทศไทย ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายชื่อเพลงข้างต้นหรือไม่?
เพราะการที่โทรศัพท์มือทั้ง 2 แบรนด์ แอบฝังแอพพลิเคชั่น “สินเชื่อความสุข” หรือ Fineasy ไว้ในตัวเครื่อง โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งาน และยังไม่สามารถควบคุม ป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว แม้กระทั่ง จะลบแอพพลิเคชั่นตัวนี้ออกจากตัวเครื่องได้
แค่เผลอไปกดเปิดแอพฯที่ว่านี้ จะโดยตั้งใจหรือเผลอเลอก็ตาม “ความผูกพันแบบไม่ตั้งใจ แต่มัดมือชก” จากแอพฯดังกล่าว จะเกิดขึ้นทันที!
ว่ากันว่า…นอกจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ “สินเชื่อความสุข” ที่สุดแสนจะแพง ถึงร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งแพงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด เช่นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้แล้ว
“ผู้ (เผลอ) กู้” ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเงินกู้กันอีก
วงเงินกู้ตั้งแต่หลักพัน ยันสูงสุดที่หลักหมื่น ล้วนเป็นภาระรายจ่ายจากแอพฯ ที่ฝังอยู่ในโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 แบรนด์ มิน่า…เหตุใดราคาเครื่องที่ขายในคุณภาพระดับนี้ จึงขายถูก!
ถูก…เพราะมีการฝังแอปฯที่ว่านี้เข้าไปในตัวเครื่อง
หลังจากมีข่าวออกมาอย่างครึกโครม ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 เป็น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ทำหนังสือเชิญ 2 บริษัทตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 แบรนด์ (บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และ บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ realme) มาชี้แจงและร่วมหาทางออกให้กับ “เหยื่อ” ในสังคมไทย
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า…สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) สั่งการให้ทั้ง 2 บริษัทระงับการจำหน่ายโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นสินเชื่อและแอพพลิเคชั่นอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่แจ้งหรือขอความยินยอมจากผู้ใช้งาน เพราะเข้าข่ายความผิดฐานละเมิด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากยังพบการจำหน่ายโทรศัพท์เหล่านี้ อาจถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อกรณี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ผลิตปรับปรุงระบบอัปเดตซอฟต์แวร์ เพื่อเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถลบแอพพลิเคชั่นดังกล่าวออกจากเครื่องได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ
ดังนั้น สคส. จึงได้กำหนดให้ 2 บริษัทจัดทำรายงานรายละเอียด กล่าวคือ 1.ขอสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนของไทย ตามมาตรา 37(5), 2.พิจารณามาตรการทางกฎหมายติดตั้งแอพพลิเคชั่นตามมาตรา 23 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, 3.ข้อมูลไม่ได้รับความยินยอมเปิดช่องทางให้ลบได้อย่างไร, 4.เครื่องใหม่ต้องไม่มีแอพพลิเคชั่นอยู่ในเครื่อง และ 5.ใครเป็นผู้รับเงินกู้ แหล่งทุน
โดยให้รีบชี้แจ้งกลับมายัง สคส.ภายใน 3 วัน หรือวันที่ 16 ม.ค.68 หากไม่ดำเนินการจะเป็นกรณีที่ฝ่าฝืนมาตรา 83 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระวางโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท
พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการ สคส. ย้ำว่า บริษัททั้ง 2 แห่งจะต้องแต่งตั้งตัวแทนที่มีอำนาจเต็มและรับผิดชอบไม่จำกัด ในประเทศไทย เพื่อรับผิดชอบต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หากไม่ดำเนินการแต่งตั้งตัวแทนจะถูกปรับตามกฎหมาย และหากเกิดการฝ่าฝืนหรือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอีกในอนาคต อาจมีโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง เพราะถือเป็นภัยต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดย สคส.จะเร่งดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป.