สมอ. จับมือ ปคบ. ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน กว่า 66 ล้านบาท

สมอ. ร่วมกับ ปคบ. และ SCG ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มอก. จากท้องตลาด มูลค่ากว่า 66 ล้านบาท เผยใช้เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ไม่เหลือกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญเพื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งได้ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที

จากรายงานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 สมอ.ได้ยึดอายัดสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์ เช่น เหล็กโครงสร้าง เหล็กเส้น ยางล้อสูบลม ปูนซิเมนต์ กระเบื้องเซรามิก เครื่องสุขภัณฑ์ ทินเนอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟฟ้า หมวกกันน็อก และภาชนะเมลามีน เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 447,900,344 บาท โดยสินค้าที่มีการยึดอายัดสูงสุดอันดับหนึ่ง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าดูแลผิวและผม มูลค่า 191,152,000 บาท รองลงมา ได้แก่ ยางล้อแบบสูบลม มูลค่า 60,089,600 บาท และบริภัณฑ์ส่องสว่าง มูลค่า 48,035,800 บาท

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – พฤษภาคม 2566 สมอ. ได้ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานให้สิ้นสภาพตามคำสั่ง กมอ. ไปแล้วอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม 58,440,334 บาท

สำหรับการทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานในครั้งนี้ เป็นการนำของกลางที่คดีถึงที่สุดแล้ว ที่ สมอ. และ ปคบ. ได้ลงพื้นที่ตรวจจับและยึดอายัดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 60,000 ชิ้น มูลค่า 66,241,228 บาท ได้แก่ พาวเวอร์แบงค์ ของเล่น ไฟแช็กก๊าซ เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับดูแลผิวและผม เตารีด ลำโพงพร้อมเครื่องขยาย เตาย่างเตาปิ้ง เตาไมโครเวฟ พัดลมไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า หม้อสุกี้ เต้าเสียบเต้ารับ ปลั๊กพ่วง กระทะไฟฟ้า ฝักบัวอาบน้ำ ก๊อกน้ำ หมวกกันน็อก ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ หัวนมยาง ของเล่น ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร เซลส์และแบตเตอรี่ เป็นต้น

ซึ่งของกลางดังกล่าวจะเข้าสู่กระบวนการทำลายให้สิ้นสภาพด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และประกาศคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเหล่านี้กลับไปหมุนเวียนในท้องตลาดหรือนำกลับมาใช้ได้อีก

สำหรับกระบวนการทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สมอ. ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ ซึ่งเป็นโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า ที่สามารถรองรับขยะอุตสาหกรรมได้หลากหลายประเภทและหลายขนาด ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย

โดยกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นแบบระบบปิด มีระบบการควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับขยะอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอชเมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุที่เผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ โดยกระบวนการนี้ทำให้ ไม่เหลือขยะอุตสาหกรรมที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ขอฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการ ทั้งผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานว่า อย่าได้พยายามฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะนอกจากจะถูกดำเนินคดีแล้ว ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากการทำลายสินค้าอีกด้วย สำหรับประชาชนผู้ซื้อสินค้า ก็ขอให้ซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. คู่กับ QR Code ที่ตัวสินค้าซึ่งท่านสามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับใบอนุญาต และสามารถร้องเรียนมายัง สมอ. ได้ ในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุไว้” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password