“คลัง” กางยอดรายได้ เก็บภาษี 5 เดือนเฉียดล้านล้าน รับอานิสงส์เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
กระทรวงการคลัง กางยอดจัดเก็บรายได้ 5 เดือน ปีงบ 2566 เฉียด 1 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้า 9 หมื่นล้านบาท อานิสงส์เศรษฐกิจขยายตัวดีหนุนจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล-ภาษีมูลค่าเพิ่ม-ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพุ่ง “สรรพสามิต” ซึมลดภาษีดีเซลกระทบผลงาน
วันที่ 27 มี.ค. 2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65 – ก.พ.66) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 989,837 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 90,451 ล้านบาท หรือ 10.1% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.8% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ และหน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 96,607 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 34,655 ล้านบาท หรือ 56% เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FMรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวมที่ 75,633 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 25,877 ล้านบาท หรือ 52% เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมจากปีงบประมาณก่อนหน้า และกรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่า การนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี
สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในช่วง 5 เดือนของปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 1,008,360 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 50,809 ล้านบาท หรือ 5.3% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 32,038 ล้านบาท หรือ 3.3% โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 754,048 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 71,761 ล้านบาท หรือ 10.5%, กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม ที่ 198,177 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 33,587 ล้านบาท หรือ 14.5% และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม ที่ 56,135 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 12,635 ล้านบาท หรือ 29%
“การจัดเก็บรายได้ ของกรมสรรพสามิต ต่ำกว่าประมาณการ จากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบ ต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง” นายพรชัย กล่าว
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65 – ก.พ. 66) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 988,845 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,530,852 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 261,505 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 236,653 ล้านบาท.