นายกฯ พอใจ 3 ปี ดึงนักลงทุน 5 อุตสาหกรรม ได้กว่า 6 แสนล้านบาท ยกเป็นผลงาน “ทีมไทยแลนด์”
นายกฯพอใจ 3 ปีดึง ลงทุน ใน 5 อุตสาหกรรม 6 แสนล้านบาท ‘บอร์ดบีโอไอ’ มี.ค.นี้เตรียมอนุมัติอีกหลายโครงการใหญ่ ยกเป็นผลงาน ‘ทีมไทยแลนด์’ พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยลุยงานหนักดันไทยเป็นจุดหมายนักลงทุนสำเร็จ ด้านโฆษกรัฐบาลเผยตัวเลขการลงทุนของ ‘คนต่างด้าว’ เดือนม.ค. ทั้งสิ้นกว่า 5 พันล้านบาท
วันที่ 6 มี.ค. 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รับทราบรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงความคืบหน้าการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งพบว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา (2563-65) ได้มีบรรษัทข้ามชาติใหญ่ระดับโลกเลือกใช้ไทยเป็นฐานลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกัน 2,687 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท
นายกรัฐมนตรี พอใจกับการเติบโตของการลงทุนที่เกิดขึ้น และถือเป็นผลสะท้อนที่เป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นว่าต่างชาติเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาล พื้นฐาน ศักยภาพของประเทศไทยและคนไทย โดยนายกรัฐมนตรียกให้ความสำเร็จนี้เป็นผลงานของทีมไทยแลนด์ ของทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างหนักท่ามกลางการแข่งขันกับประเทศต่างๆที่เร่งดึงดูดนักลงทุนเช่นกัน แต่ทีมไทยแลนด์ก็สามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นักลงทุนทั่วโลกเลือกเป็นฐานการผลิตได้
“ในเดือน มี.ค.นี้จะมีการประชุมบอร์ดบีโอไออีก 1 ครั้ง ซึ่งสำนักงานบีโอไอจะนำเสนอโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการให้บอร์ดอนุมัติให้การส่งเสริม การที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยต่อเนื่องนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่ารัฐบาลได้กำหนดนโยบายมาถูกทางและได้การวางรากฐานให้อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานบีโอไอ รายงานถึงรายละเอียดการขอรับส่งเสริมการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า รวม 2,687 โครงการ เงินลงทุนรวม 6 แสนล้านบาท ดังนี้ 1)อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 78,115 ล้านบาท 2) อุตสาหกรรมดิจิทัล 420 โครงการ มูลค่า 64,481 ล้านบาท 3)อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 92 โครงการ มูลค่า 113,990 ล้านบาท 4)อุตสาหกรรม BCG 1,911 โครงการ มูลค่า 305,170 ล้านบาท และ 5)อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 218 โครงการ มูลค่า 53,104 ล้านบาท
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เดือนมกราคม ปี 2566 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 52 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 22 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,129 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 298 คน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือนมกราคม 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุน 683 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าตลอดปี 2566 จะมีนักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
สำหรับชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ญี่ปุ่น 14 ราย (ร้อยละ 27) เงินลงทุน 3,588 ล้านบาท
2.สิงคโปร์ 6 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 410 ล้านบาท
3.สหรัฐอเมริกา 6 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 9 ล้านบาท
4.สหราชอาณาจักร 5 ราย (ร้อยละ 10) เงินลงทุน 98 ล้านบาท และ
5.จีน 3 ราย (ร้อยละ 6) เงินลงทุน 548 ล้านบาท