“เอเปค2022” ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน เอกชนหนุนโชว์ศักยภาพ “อีอีซี”

ภาคเอกชน มั่นใจ การประชุมเอเปค2022 จะช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว กระตุ้นการค้า โชว์พื้นที่อีอีซี เหมาะต่อการลงทุน เชื่อมโยงสู่ข้อริเริ่มเสายแถบและเส้นทาง

วันที่ 15 พ.ย.2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค (เอเปค) ทั้งระดับผู้นำและการประชุมที่เกี่ยวข้องในวันที่ 14-19 พ.ย.2565 โดยเป็นการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 ของประเทศไทยที่จะสร้างโอกาสในการเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับประเทศ รวมทั้งจะสร้างความเชื่อมั่นการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว

สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจไทย เป็นการเปิดโอกาสให้ 21 เขตเศรษฐกิจและประเทศไทยได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนได้รับโอกาสที่เชื่อมกับประเทศในกลุ่มเอเปคตรงนี้เพิ่ม เพราะเป็นการรวมตัวสุดยอดผู้นำเอเปค CEO ที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

รวมทั้งได้การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขประเด็นที่สำคัญ และการจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจต่างๆ ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั้งโลกกำลังเผชิญ

ทั้งนี้เป้าหมายหลักในการจัดงานครั้งนี้ คือ การส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพในด้านต่าง ๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มตัวเลขภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงกระตุ้นการค้าและการส่งออก แน่นอนว่า การเข้ามาร่วมประชุมของนักธุรกิจต่างชาติ จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของบ้านเราเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงเหวี่ยงที่สำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

สำหรับเรื่องการลงทุนมองว่าประเทศไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการศึกษา ”ทำความเข้าใจกับประเทศยุทธศาสตร์” ที่เราจะชักชวนมาลงทุนให้ตรงประเด็นพร้อมกับใช้แนวทางของเราที่จะโปรโมตก็คือ โมเดล BCG ซึ่งเป็นเทรนด์และนโยบายสำคัญของไทย พร้อมกับนำเสนอพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะเป็นพื้นที่การลงทุนที่สำคัญให้กับต่างประเทศได้เห็นศักยภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งที่จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อให้เกิด Ease of Doing Business และ Ease of Investment โดยขณะนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการหารืออย่างใกล้ชิด เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ

รวมทั้งในหลายประเทศต้องมีการปรับมาตรการส่งเสริมการค้าการลงทุน เพื่อให้เหมาะกับแต่ละประเทศกลุ่มเป้าหมาย อย่างเช่นที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดการสัมมนา Thailand-China Investment Forum และ Thai-Saudi Investment Forum ในเดือน พ.ย.2565 ทำให้เราเข้าใจความต้องการเฉพาะของแต่ละประเทศมากขึ้น

“การจัดงานดังกล่าวไทยได้แสดงให้เห็นการพัฒนาอีอีซี ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากจีนเป็นอย่างดี และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อว่าหากมีการวางแผนเจาะรายประเทศเช่นนี้จะทำให้การลงทุนจากประเทศยุทธศาสตร์ของประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้นได้ สำหรับประเทศยุทธศาสตร์ต่อไปที่วางแผนจะดำเนินการก็มีทั้งประเทศญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย ซึ่งจะมีแผนการในลำดับต่อไป

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) กล่าวว่า การประชุมผู้นำเอเปคในรอบนี้จัดขึ้นบนสถานการณ์ที่มีท้าทายจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งยังเป็นการจัดขึ้นหลังจากที่มีการแพร่ระบาดขอโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงมีวิกฤติราคาพลังงานเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 จึงทำให้เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น เพราะหลายประเทศเจอปัญหาพลังงานสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อปัญหาอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ การที่ผู้นำเอเปคจะได้เจรจาเพื่อหาทางขับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติต่างๆ ซึ่งภาคธุรกิจเอเปคคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือกับภาครัฐของเอเปครวมทั้งคาดหวังว่าการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปคในครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนให้กับประเทศไทย

“การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 จะเป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงศักยภาพของการเป็นเมืองท่องเที่ยวบนเวทีระดับนานาชาติรวมทั้งฟื้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้งภาคการส่งออกและการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโมเดลบีซีจีที่เป็นวาระแห่งชาติ”

รวมทั้งผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคจะช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังโควิด-19 ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัลซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password