ภาคเอกชน หวัง แบงก์ ลดอัตราดอกเบี้ย/ปธ.ธนาคารไทย แจงยิบ ปมกำไรสูง ต้องบริหารความเสี่ยง

เอกชนหวังไตรมาส 2 เห็นแบงก์ลดอัตราดอกเบี้ย ‘สมาคมแบงก์’ แจงยิบกำไร-รายได้สูงเพราะต้องแบกต้นทุน-หนี้หนัก แต่ยันพร้อมช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเสมอ แม้หมดมาตรการอุ้มจากแบงก์ชาติ

วันที่ 11 ม.ค.2567 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทย เป็นระดับสูงสุดแล้ว หวังว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง ถ้า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดลงเมื่อไร ก็ควรปรับลดทันที คาดว่าไตรมาส 2 คงจะมีแนวทางปรับดอกเบี้ยลดลงอย่างเหมาะสม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2/2567 ส่วนกรณีธนาคารออมสินนำร่องลดดอกเบี้ย MRR นับเป็นเรื่องที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ปัญหาสำคัญคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ สำหรับเอกชนมีปัญหาเรื่องชำระคืนหุ้นกู้นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้ภาครัฐค้างชำระค่าจ้างเอกชน ส่งผลให้เอกชนขาดเงินทุนหมุนเวียน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคากรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงกรณี กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีกำไรสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท และมีการคิดดอกเบี้ยที่สูง ว่า จากที่ได้หารือกันในผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีข้อมูลว่าทั้งระบบธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรสูง ต้องดูแลเงินฝาก ถ้าหากดูส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารไทยสูง แต่มีต้นทุนการเงินที่สูงเช่นเดียวกัน และมีความเสี่ยงที่หนี้ไม่สามารถชำระคืนได้สูงกว่าประเทศอื่น และผลตอบแทนจากสินทรัพย์มีแค่ 1% ต่ำมากเมื่อเทียบประเทศอื่นที่เฉลี่ย 2-4%

นอกจากนี้ ธุรกิจธนาคารไทยสินทรัพย์ขนาดใหญ่ถึง 8.5 เท่าเมื่อเทียบบริษัททั่วไป มีหนี้สินต่อทุน 2.1 เท่า และมีความเสี่ยงเรื่องคุณภาพหนี้ รวมถึงยังมีต้นทุนดิจิทัล ในเรื่องการโอนเงินพร้อมเพย์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมต่างจากต่างประเทศที่คิดค่าธรรมเนียมทั้งหมด และยังมีในเรื่องการบริหารจัดการเงินสด ถ้าดูผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ไปสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจอยู่ระบบต่ำ สะท้อนจากราคาหุ้นธนาคารที่ไม่ได้เคลื่อนไหวสูง อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางที่มีปัญหา แม้จะหมดมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปเมื่อสิ้นปี 2566 โดยมียอดหนี้รับการดูแลในธนาคารพาณิชย์ 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.5 ล้านบัญชี

“การที่ธนาคารออมสิน ออกมาลดดอกเบี้ยเงินกู้ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกของรัฐที่พยายามช่วยเหลือผ่านธนาคารของรัฐ แต่ในระบบกลไกของธนาคารที่เป็นเอกชน ยังมีภาระที่ต้องดูแลตัวเราเอง และยังมีสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันตอนที่เกิดวิกฤตการเงินปี 2540 ซึ่งปัจจุบันยังเหลือหนี้ค้างชำระกว่า 6 แสนล้านบาทในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งต้องระวังไม่ให้เกิดภาระเหมือนดังกล่าวขึ้นอีก” นายผยง กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password