เทเลนอร์จับมือซีพี ทุ่ม 7.3 พันล้านหนุนสตาร์ทอัพ มุ่งสร้างประโยชน์เพื่อชาวไทย

กลุ่มเทเลนอร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์จับมือตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท ลงทุนในเทคโนโลยีและในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยให้แข็งแกร่งและสนับสนุนสู่การสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับภูมิภาค

นายซิคเว่ เบรคเก้, President and Chief Executive Officer (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า Venture Capital ใหม่นี้จะมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้เล่นหลัก ที่จะผลักดันเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและสนับสนุนภาครัฐผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วยการสร้างนวัตกรรมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ซี่งคาดว่าจะสร้างการจ้างงานที่แข็งแกร่ง การสร้างทักษะงานดิจิทัลใหม่ๆ ถึง 250 –2,000 ตำแหน่ง

“ด้วยความสามารถในการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่แข็งแกร่งความมุ่งมั่นของเราในการลงทุนในสตาร์ทอัพในไทยสามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย” นายซิคเว่กล่าว

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการทรู คอร์ปอเรชั่น เพิ่มเติมว่า กองทุน Venture Capital Funding จำนวน 200 ล้านเหรียญ เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประเทศ ดึงนักลงทุนและกองทุนอื่นๆ มาร่วมได้

“หมายความว่าเราตั้งไว้ 200 ล้านเหรียญ แต่สามารถดึง Fund อื่นๆ จากทั่วโลกมาร่วมได้ 800 ไปถึง 1,000 ล้านเหรียญ ซึ่งตรงนี้เป็นไปได้ ขอให้เรามั่นใจในประเทศของเราก่อน อีกทั้งวันนี้ Capital  Gain Tax  ก็ผ่านแล้ว ทำให้เรามี Capital  Gain Tax  การลงทุนใน Tech Startup เทียบเท่ากับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ทำให้แข่งขันได้ ดังนั้นเราน่าจะสามารถดึงดูดการลงทุน และร่วมกันขับเคลื่อน Tech Startup ในไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก”

นายศุภชัย เพิ่มเติมว่า การควบรวม ทรู และ ดีแทค ในลักษณะ Equal Partnership แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อให้สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการมองหาโอกาสที่จะได้รวมพลัง ผนึกความแข็งแกร่งของทั้ง 2 องค์กร ร่วมกันสร้างระบบนิเวศ และขับเคลื่อนบริษัทเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ไปด้วยกัน อันจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าให้เกิดกับผู้บริโภค ประชาชน และภาคธุรกิจอื่นๆ ที่จะร่วมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไป

เมื่อฉายภาพภูมิทัศน์การลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน จะพบว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ต่างให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสตาร์ทอัพสุขภาพที่ดีในปี 2564 การลงทุนสูงสุดในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีประมาณ 14,200 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไทยกลับตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอันดับที่ 11 ของภูมิภาค ส่วนแบ่งของไทยอยู่ที่ 3% โดยยูนิคอร์น 3 รายมาจากไทย คือ Bitkub, Ascend และ Flash Express จากยูนิคอร์นทั้งหมด 49 รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มเทเลนอร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์จะจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำปรึกษาเพื่อโค้ชและเชื่อมต่อผู้เริ่มต้นสู่ระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ และเครือข่ายระดับภูมิภาค รวมทั้งระดับโลก Venture Capital Fund (VCF) ยังตั้งเป้าที่จะสร้างเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ มีเป้าหมายสนับสนุนการสร้างสิทธิบัตรใหม่อย่างน้อย 30 – 70 ฉบับ ตั้งเป้าสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อภาคการเกษตร การดูแลสุขภาพ และการศึกษา นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเพื่อย้ายถิ่นฐานมายังไทย ในการกระตุ้นการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีล้ำสมัยเทคโนโลยีอวกาศ ปัญญาประดิษฐ์ และแม้แต่ Metaverse กองทุน Venture Capital มุ่งสู่แข่งขันกับกองทุนร่วมลงทุนขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคที่มีเป้าหมายและมูลค่าใกล้เคียงกัน ดังนี้

Asia GreenTech Fund เป็น Venture Capital สัญชาติมาเลเซีย ที่มีเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นเดียวกัน เน้นการลงทุนในเทคโนโลยีและพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green technology and green energy) เช่น เทคโนโลยีเกษตรกรรม (agritech) การรีไซเคิล และพลังงานทดแทน

Golden Gate Ventures เป็น Venture Capital ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภคในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการแพทย์ (healthtech) โลจิสติกส์ และเทคโนโลยีการเงิน (fintech)

Jungle Ventures เป็น Venture Capital สัญชาติสิงคโปร์ที่เน้นไปที่การลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค รวมไปถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่จำกัดขนาดของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนว่าเล็กเพียงใด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password