‘บิ๊กซีพี’ ยกทีมชมความก้าวล้ำด้านอวกาศในภาคการศึกษาไทย ‘ต้นแบบห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ’
“สุภกิต เจียรวนนท์” นำทีมผู้บริหารเครือซีพี ส่องภารกิจความร่วมมือด้านอวกาศในภาคการศึกษาไทย สู่มิชชั่นต้นแบบห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศหนึ่งเดียวในเอเชีย ก้าวล้ำไปกับมาตรฐาน NASA เผย! โครงการเตรียมอาหารให้นักบินอวกาศของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ฉีกกฎการเตรียมอาหารให้นักบินอวกาศทำงานนอกโลกได้นานถึง 3 ปี
นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำทีมคณะผู้บริหารบริษัทในกลุ่มฯ เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานจากทีมวิจัยเพื่อผลักดันการเดินหน้าโครงการด้านอวกาศของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร พร้อมเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ KEETA หรือ The KEETA Space Food Laboratory ห้องปฏิบัติการต้นแบบหนึ่งเดียวในเอเชียที่ผ่านและใช้มาตรฐานนาซ่า ของทีมคีตะ หรือ KEETA ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือครั้งสำคัญของทีมวิศวกรรมอวกาศรุ่นใหม่ในประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกหลากหลายหน่วยงาน อาทิ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ภายในงานนำทีมโดย ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) พร้อมด้วย ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (PIM) ตัวแทนทีมวิจัย KEETA ได้นำเสนอถึงที่มาของทีมในการเข้าร่วมแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารอวกาศ “Deep Space Food Challenge” ซึ่งจัดขึ้นโดย NASA CSA และ Methuselah Foundation เป็นการแข่งขันฉีกกฎการเตรียมอาหารให้นักบินอวกาศจำนวนมากถึง 4 คน ให้สามารถทำงานอยู่นอกโลกนานถึง 3 ปี โดยไม่ต้องพึ่งพาการเติมเสบียงใหม่จากพื้นโลกเลยแม้แต่ครั้งเดียว สำหรับใช้ในภารกิจการสำรวจอวกาศระยะยาวโดยเฉพาะ
ทีม KEETA เป็นตัวแทนประเทศไทยเพียงหนึ่งเดียว ในการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารอวกาศนี้ โดยนำ ระบบการผลิตอาหารแบบครบวงจร ผ่านการใช้หนอนด้วงสาคู พืชถั่วเขียว และระบบจัดการของเสีย เพื่อแก้ปัญหาการผลิตอาหารอวกาศสำหรับภารกิจสำรวจนอกโลกที่มีระยะเวลายาวนานขึ้น อาทิ การเดินทางไป-กลับดาวอังคาร ที่ใช้เวลารวมตลอดภารกิจนาน 34 เดือน ให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเหมาะสมกับนักบินอวกาศแห่งยุคอนาคต โดยอาหารที่ได้ต้องมีคุณค่าและสารอาหารที่ครบถ้วน พร้อมด้วยรสชาติและรูปลักษณ์ถูกปากผู้บริโภคในสภาวะอวกาศ จากผลงานในการแข่งขันครั้งนี้ ทีม KEETA มุ่งหวังส่งต่อองค์ความรู้ แรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยด้านต่าง ๆ และบุคลากรที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดได้
ต่อด้วย การนำเสนอข้อมูลด้านสภาพอากาศในอวกาศ หรือ Space Weather โดย ดร.วิรินทร์ สนธิ์เศรษฐี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ที่กล่าวถึง การเฝ้าระวังพิบัติภัยทางอวกาศ โดยเฉพาะรังสีและอนุภาคจากอวกาศ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับเทคโนโลยีอวกาศที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว โดยทาง PIM ได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านฟิสิกส์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง และเตือนภัย (Alerts, Watches, and Warnings) ผลกระทบจากสภาพอวกาศ (Space Weather) อันเนื่องมาจากรังสีและอนุภาคจากอวกาศ เช่น พายุสุริยะ เพื่อวางแผนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เชิงลึกเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีอวกาศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
หลังจากนั้น นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย นายวิเชียร จึงวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์, นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด, รศ.ดร.สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และคณะผู้บริหารบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ KEETA และทดลองชิมอาหารสำหรับนักบินอวกาศ ณ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 1 (INC1) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันการศึกษาเพื่อสังคมในกลุ่มซีพี ออลล์ ในฐานะองค์กรที่มุ่งมั่นในปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยีของประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาพัฒนาเยาวชนผ่านโครงการดังกล่าว พร้อมเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างความก้าวหน้า พร้อมยกระดับการวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติต่อไป.