‘รมช.คลัง’ เร่งพัฒนาที่ราชฯ อัพ ‘ท่าเรือภูเก็ต’ ขยายหน้าท่า ขุดร่องน้ำลึก ยกสู่ ‘ท่าเรือ Hybrid’ รับเรือสำราญ

เผ่าภูมิ” มุ่งพัฒนาที่ราชพัสดุ ล่าสุด ลงพื้นที่ตรวจ “ท่าเรือภูเก็ต” จ่อขยายหน้าท่า ขุดร่องน้ำลึก ดันเป็นท่าเรือ Hybrid รับเรือสำราญ หวังฟื้นเศรษฐกิจจังหวัดแถบทะเลอันดามัน

วันนี้ (2 มิ.ย.2568) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง พร้อมด้วย นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ และ ผู้บริหารกรมธนารักษ์ฯ ร่วมลงตรวจพื้นที่ โครงการปรับปรุงท่าเรือภูเก็ต บริเวณที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก. 308 (บางส่วน) ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 105 – 2 – 12.7 ไร่ เพื่อตรวจผลการดำเนินการของโครงการปรับปรุงท่าเรือภูเก็ต โดยเน้นพัฒนาให้ท่าเรือภูเก็ตท่องเที่ยวมีความพร้อมในการรองรับเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) และท่าเรือขนถ่ายสินค้าได้อย่างเหมาะสมอย่างเต็มศักยภาพ

กรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงท่าเรือภูเก็ต เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและการขนถ่ายสินค้า โดยเปิดประมูลสรรหาผู้ลงทุนพัฒนาโครงการปรับปรุงท่าเรือภูเก็ตเพื่อเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและการขนถ่ายสินค้า ระยะเวลาการเช่า 30 ปี เพื่อพัฒนาเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว รองรับเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) และเป็นท่าเรือเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าของภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน พัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลฝั่งอันดามัน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้ที่ราชพัสดุ

เดิม “ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต” ถูกออกแบบเพื่อขนส่งสินค้า แต่ปัจจุบันปริมาณสินค้าลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวทางเรือ โดยเฉพาะเรือ Cruise เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันท่าเรือมีข้อจำกัดด้านความลึกของร่องน้ำ จึงไม่สามารถรองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ได้โดยตรง อีกทั้งในฤดูมรสุมคลื่นลมแรง เรือไม่สามารถเทียบท่าได้ จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนา โดยขยายหน้าท่าเพิ่มอีก 535 เมตร (จากเดิม 360 เมตร) นอกจากนี้ ยังมีแผนขุดลอกร่องน้ำให้ลึกถึง –10.5 และขยายแอ่งกลับลำเรือให้เหมาะสม รวมทั้งสร้างเขื่อนกันคลื่น ไฟส่องสว่าง อาคารผู้โดยสาร และติดตั้งอุปกรณ์ท่าเรือมาตรฐาน เพื่อให้เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญ

ทั้งนี้ ท่าเรือภูเก็ตจะกลายเป็นท่าเรือแบบ Hybrid ที่เป็นทั้ง Home Port รองรับทั้งเรือ Cruise ขนาดกลาง–เล็ก เป็น Marina Hub และเป็นท่าเรือแวะพัก Port of Call รองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียที่มีผู้โดยสารถึง 4,900 คน/ลำ

รายงานข่าวจากกรมธนารักษ์ แจ้งเพิ่มเติมว่า วันเดียวกัน (2 มิ.ย.) นายเผ่าภูมิ ยังได้ลงพื้นที่โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก. 293 – 294 ตามที่จังหวัดภูเก็ตได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไปเพื่อให้เอกชนลงทุนพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวเมื่อปี 2548  โดย กรมธนารักษ์ได้เห็นชอบให้ บริษัท บ้านใจใส จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาที่ราชพัสดุ ซึ่งบริษัทฯ ได้เสนอโครงการฯ มูลค่าประมาณ 68.59 ล้านบาท และเสนอให้เงินค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์ เป็นเงิน 1.7 ล้านบาท

ปัจจุบันได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างและแก้ไขแบบแปลน เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ของอาคาร โดยมีรายการก่อสร้างอาคาร 12 รายการ มูลค่าโครงการทั้งสิ้นประมาณ 236.07 ล้านบาท ผลการก่อสร้าง ณ เดือนเมษายน 2568 คิดเป็นร้อยละ 87.50 (กรมธนารักษ์อนุญาตให้บริษัทฯ ขยายระยะเวลาการก่อสร้างจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2568)

ส่วน โครงการปรับปรุงท่าเรือภูเก็ต บริเวณที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก. 308 (บางส่วน) เพื่อพัฒนาปรับปรุงท่าเรือภูเก็ต เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและการขนถ่ายสินค้าตามนโยบายของรัฐบาล โดยการเปิดประมูล  เป็นการทั่วไปเพื่อหาผู้ลงทุนพัฒนาตามประกาศกรมธนารักษ์ ลงวันที่ 10 พ.ค. 2559 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญากำหนดเงื่อนไขให้เสนอโครงการฯ นั้น

รายงานระบุว่า มูลค่าของโครงการฯจะต้องไม่ต่ำกว่า 116.89 ล้านบาท และเสนอค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 139.50 ล้านบาท ทั้งนี้ ปรากฏว่า บริษัท ภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล โดยบริษัทฯ ได้เสนอเงินค่าธรรมเนียมฯ 345 ล้านบาท และมูลค่าโครงการฯ 132.86 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนรวมตลอดอายุ 30 ปี เป็นเงิน 678.41 ล้านบาท

โดยในปี 2568 กรมธนารักษ์ได้กำกับให้บริษัทฯ ดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาการบริหารงานและดำเนินกิจการท่าเรือภูเก็ต (สัญญาเลขที่ 1/2561 ลงวันที่ 9 พ.ค. 2561) เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาด (Cruise) และท่าเรือขนถ่ายสินค้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password