ไทยแชมป์โลก ครึ่งปีแรกส่งออก”ยางพารา” สูงสุด ครองตลาดจีน 49% ออก 6 มาตรการเชิงรุก

“อลงกรณ์ พลบุตร” เผยครึ่งปีแรก ไทยยืนแชมป์โลกส่งออกยาง ครองตลาดจีน 49% ออก 6 มาตรการเชิงรุก ขณะ กยท. คาดการณ์ปริมาณผลผลิต ปี 2565 มีปริมาณ 4.799 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.88% และ การส่งออกยางธรรมชาติ 2565 มีปริมาณ 4.275 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.41%

วันที่ 12 ส.ค.2565 ที่ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meeting ระบุว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดยาง รวมทั้งมุมมองและข้อเสนอแนะจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรของไทยทุกภูมิภาคทั่วโลก และรายงานของการยางแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาด และการส่งออกครึ่งปี 2565 ยังครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง 2,190,065 ตัน โดยเฉพาะ “จีน” นำเข้ายางไทยเป็นอันดับ 1 ครองมาร์เก็ตแชร์ถึง 49%

นอกจากนี้ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบใน หลักการให้มีการจัดตั้งแพลตฟอร์มเครือข่ายยางไทย เป็นองค์กรความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยแนวทางความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน (Partnership principal) เป็นการผนึกพลังให้แข็งแกร่งในฐานะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก เป็นองค์กรในลักษณะเดียวกับแพลตฟอร์มเครือข่ายความร่วมมือ FKII ของญี่ปุ่นซึ่งมีกว่า 4,200 องค์กรเป็นสมาชิก และมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประสานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรไทยในญี่ปุ่น จัดทำโครงสร้างและระบบของแพลตฟอร์มเครือข่ายยางไทยเสนอในการประชุมคราวหน้า และจากการเสนอรายงานและข้อเสนอแนะของฑูตเกษตรทุกภูมิภาคทั่วโลกทำให้เห็นถึงช่องว่างตลาดใหม่ๆ และนโยบายใหม่ของประเทศคู่ค้า จึงให้เพิ่มมาตรการใหม่อีก 6 มาตรการเชิงรุก ได้แก่

1.มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกเช่นการผลิตสื่อดิจิทัลเผยแพร่ในตลาดต่างประเทศ

2.มาตรการตลาดเชิงรุกเน้นความต้องการผลิตภัณฑ์ยางในรายตัวสินค้าและในรายประเทศคู่ค้า (Product based &country based) เช่น ความต้องการยางจักรยานและยางรถบัสเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและผลิตภัณฑ์ยางที่อียูแบนสินค้าจากรัสเซีย หรือผลิตภัณฑ์ยางที่รัสเซียระงับการนำเข้าจากอียู ทำให้เกิดช่องว่างที่ไทยสามารถส่งออกไปทดแทนได้

3.มาตรการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเร่งดำเนินการก่อนประเทศคู่แข่งโดยใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน สวนยางยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตอบโจทย์เทรนท์ของตลาดเช่นประเด็นสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) FSC และ Deforestation เป็นต้น

4.มาตรการระยะสั้นรายไตรมาสเพื่อการบริหารจัดการตามปฏิทินฤดูการผลิตประจำปี โดยมอบ กยท. ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน

5.มาตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ยางมูลค่าสูงเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง สถาบันยางและผู้ประกอบการโดยให้กยท.ประสานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC) ซึ่งมีผลงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ยางจำนวนมากเช่นวัสดุภัณฑ์ก่อสร้างบ้านและอาคาร ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ด้านคมนาคมขนส่ง

6.มาตรการเชิงกลไกการตลาดเช่น การแทรกแซงตลาด ซึ่ง กยท.ได้ดำเนินการโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางโดยเข้าแทรกแซงตลาดเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเชิงกลไกตลาด เช่น การบริหารซัพพลายและดีมานด์ กลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง และระบบการประมูลยางออนไลน์เป็นระบบที่เปิดกว้างเพิ่มผู้ซื้อ ทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการกำหนดราคา โดยผู้ซื้อน้อยราย หรือการฮั้ว หรือการผูกขาด

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.799 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.88% และคาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติ 2565 มีปริมาณ 4.275 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.41% โดยมีมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ของระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2565 มีมูลค่า 167,213 ล้านบาท และมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติไปยังต่างประเทศ ปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย. 2565) มูลค่า 70,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด คิดเป็น 49% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 7% ญี่ปุ่น 6% เกาหลีใต้ 4% และอื่นๆ 25%

“ข้อมูล กยท.เข้าซื้อน้ำยางสด ณ วันที่ 22 มิ.ย.-14 ก.ค. 2565 รวม 5,239,980 กิโลกรัม เนื้อยางแห้ง 1,720,921.68 กิโลกรัม เป็นเงิน 91,037,470 บาท เฉลี่ยซื้อกิโลกรัมละ 52.90 บาท สร้างเสถียรภาพราคาน้ำยางจากที่ทุกบริษัทปลายน้ำตั้งราคาจะซื้อน้ำยางสด กิโลกรัมละ 45 บาท (ในเดือน มิ.ย.65) ตรึงราคาได้และกลับมาเพิ่มจากที่ราคาน้ำยางลง 49 บาท มาเป็น 51-52 บาท ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ก.ค.65 รวม 24 วัน ถ้าเทียบปริมาณน้ำยางสดทั้งประเทศ วันละประมาณ 30,000,000 กิโลกรัม (น้ำยางสด) 10,000,000 กิโลกรัม (เนื้อยางแห้ง) จะสร้างราคาเพิ่ม 3-5 บาท/กิโลกรัม (จำนวน 24 วัน ) เป็นเงิน 720 ล้านบาท” นายอลงกรณ์กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password