ไม่ห่วงไทยขาดดุลการค้าจีน หากนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออกไปยังคู่ค้ารายอื่น
“นักวิชาการ – นักธุรกิจไทย” ยังมองโลกแง่ดี หลังไทยขาดดุลการค้าจีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2566 ที่ขาดดุลพุ่งเกือบ 1.3 ล้านล้านบาท ยกเหตุผลนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออก สุดท้ายภาพรวมไทยยังคงเกินดุลอยู่ดี แนะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย
สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยกับชาติคู่ค้าสำคัญอย่างจีน เป็นไปในลักษณะที่ขาดความสมดุลย์อย่างมาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขการค้าระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง และเป็นไทยที่ขาดดุลการค้าให้กับจีนเป็นจำนวนมหาศาล โดยใน ปี 2566 ที่ผ่านพบว่าการค้าระหว่างไทยและจีนมีมูลค่าสูงถึง 104,965 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,649,674 ล้านบาท แบ่งเป็น การส่งออก 34,164 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,176,889 ล้านบาท ลดลง 0.8% ขณะที่ การนำเข้าอยู่ที่ 70,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ2,472,785 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าให้จีนสูงถึง 36,636 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,295,895 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้ สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกไทยอย่างมาก โดยสินค้าสำคัญที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน ได้แก่ เครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนคือ ผลไม้สด ยางพารา และไม้ โดยในระยะข้างหน้า เชื่อว่าการขาดดุลการค้ากับจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยที่ไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนและเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในระยะข้างแต่อย่างใด
ด้าน ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ไทยขาดดุลการค้าให้จีนมากถึงกว่า 1.29 ล้านล้านบาทในปี 2566 นั้น ต้องไปดูที่โครงสร้างสินค้านำเข้าว่าเป็นสินค้าเครื่องประเภทเครื่องจักร หรือวัตถุดิบที่นำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ หรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าสินค้าในกลุ่มนี้ที่ไทยนำเข้ามามีสัดส่วนไม่น้อย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่น่ากังวลใจ ที่ผ่านมาหากไทยไม่นำเข้าสินค้าเครื่องประเภทเครื่องจักร หรือวัตถุดิบจากจีน ก็ต้องนำเข้าจากประเทศคู่ค่าอื่นๆ เช่น นำเข้าจากญี่ปุ่น เยอรมัน หรือสหรัฐอเมริกา อยู่แล้ว ที่สำคัญ ประเทศจีนซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตสินค้าอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก มีกำลังการผลิตที่สูงมากทำให้ต้นทุนสินค้าที่ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกมีราคาต่ำกว่าประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของไทย ดังนั้น หากไทยจะขาดดุลการค้ากับจีน เพราะมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าก็ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เพราะภาพรวมการส่งออกของไทยยังคงเกินดุลการค้า โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบริการ
อย่างไรก็ตาม ทางการไทยและภาคเอกชนของไทยจำเป็นจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย รวมถึงนำนวัตกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้การผลิตสินค้าเพื่อลดต้นทุน และลดการดุลการค้าในส่วนที่เป็นการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปให้มากขึ้น
ขณะที่ นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ประเทศจีนมีการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนผลิตต่อหน่วยมีราคาต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นจำนวนมาก หากมองในแง่ดีคือ ต้นทุนการนำเข้าจากจีนถูกกว่าการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ประเด็นที่ต้องมองคือ ถ้าเป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออกต่อไปยังประเทศคู่ค้าของไทย ก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายแต่อย่างใด
อนึ่ง สินค้าที่ไทยนำเข้าและส่งออกไปยังจีน ประกอบด้วย การนำเข้า คือ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน, คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์และส่วนกระกอบ ขณะที่การส่งออก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง, ผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น.