“เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด 0.75% และยัง จ่อขึ้นต่อเนื่อง ฉุด เศรษฐกิจโลก เสี่ยงถดถอย

ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยตามคาด 0.75% มุ่งเป้าลดเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ที่ 2% ด้านนักเศรษฐศาสตร์ คาดครั้งต่อไปเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ 0.25-0.5% เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ภาคอุตฯจ่อหั่นค่าใช้จ่าย รับมือสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

วันที่ 28 ก.ค.2565 การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ FOMC ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อช่วงวันที่ 26-27 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด สู่ระดับ 2.25-2.50%

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด ซึ่งมีการเผยแพร่ในเดือนพ.ค. โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

คณะกรรมการ FOMC จะจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจ และเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า คาดการณ์ไว้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ที่ 0.75% จะเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นในเดือน ก.ย.จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 0.50% และลดลงสู่การปรับขึ้นในอัตราปกติที่ 0.25% ในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายของปีในเดือน พ.ย.และธ.ค.

ด้าน นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นไปได้ที่ ภายในสิ้นปีนี้ ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างกันจนมากเกินไป จนไปกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาท

อย่างไรก็ตาม ควรปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปรวมทั้งควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากบางธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ,การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้,มาตรการช่วยเหลือทางภาษีทั่วไป เป็นต้น โดย ผู้บริหาร ส.อ.ท. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ ปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 0.75-1.00% เพื่อที่จะรักษาทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย

ส่วนกรณี ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ถึงแม้จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถด้านราคาในการส่งออกสินค้าไทย แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้ต้นทุนพลังงาน สินค้าและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าสูงขึ้ นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปรามหรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 32-34 บาท ต่อ เหรียญสหรัฐ ขณะที่ผู้ประกอบการก็ควรทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทที่อ่อนค่า เช่น การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางหลักในการรับมือต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ 33.0% เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน และปรับการบริหารกระแสเงินสดใหม่ 19.6% ปรับวิธีการบริหารกระแสเงินสด เช่น กู้ระยะยาว 18.7% แทนการกู้เงินเบิกเกินบัญชี OD ทั้งนี้ภาครัฐควรมีมาตรการหรือนโยบาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดย ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป 52.6% มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 52.2% สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 45.5%

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางในการลดผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาท จากการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน 58.4% เปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศ 47.4% ขึ้นราคาขายในประเทศเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภค 34.9% การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกัน 19.6% นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการหรือนโยบาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยกำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปราม 63.2% (หรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท) ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ 52.2% มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 43.1% และปรับเพดานราคาสินค้าควบคุมให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 32.5%

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password