กนอ. จับมือ ส.อ.ท. จัดสัมมนา ‘Eco Innovation Forum 2024’ ดันเศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน ควบคู่รักษาสิ่งแวดล้อม
กนอ. จับมือ ส.อ.ท. จัดสัมมนาวิชาการ “Eco Innovation Forum 2024” ภายใต้แนวคิด “Now Thailand : Sustainable Futures ลงทุนในประเทศไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 “Eco Innovation Forum 2024” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้แนวคิด “Now Thailand : Sustainable Futures ลงทุนในประเทศไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
นายเอกนัฏ ระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ 2.3 แต่เพื่อรักษาการเติบโตในระยะยาว จำเป็นต้องกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ยกระดับด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งจากสถานการณ์ ภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการกีดกันทางการค้า โดยรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโครงสร้างการผลิต โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทย ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ (Now Thailand) ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุน แต่เป็น “ทางด่วน” ที่จะเร่งการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายขับเคลื่อน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ โดยมียุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการให้บรรลุเป้าหมายของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตไปพร้อมกับชุมชน ตามแนวทาง MIND 4 มิติ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม ความลงตัวกับกติกาสากล และการกระจายรายได้สู่ชุมชน
สำหรับภารกิจสำคัญในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงฯ จะมุ่งเน้นการส่งเสริม Soft Power การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การยกระดับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว การขับเคลื่อนศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล การลดมลพิษทางอากาศ การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการยกระดับการบริการของกระทรวง
รมว.อุตสาหกรรม ยังกล่าวขอบคุณ กนอ. และ ส.อ.ท. ที่ร่วมมือกันจัดงาน พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับนิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองต่างๆ โดยหวังว่างานสัมมนาครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่ทุกท่านจะได้เตรียมตัวรับมือกับความท้าทายต่างๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก เพื่อให้ “Now Thailand: Sustainable Futures” เป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนและนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.ร่วมกับ ส.อ.ท. จัดงานสัมมนาวิชาการ Eco Innovation Forum 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเผยแพร่ผลงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เชิดชูเกียรติองค์กรที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 ผ่านแนวทาง 3R คือ
1.“ลด” การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) 2.“หมุนเวียน” พลังงานธรรมชาติหรือพลังงานที่สะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ และ 3.“ชดเชย” คาร์บอนที่ถูกนำมาใช้ด้วยกิจกรรม อาทิ การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อการดำเนินการให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ ภายในปี 2593 ทั้งหมดนี้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยึดหลัก สะอาด สะดวก โปร่งใส นำพาภาคอุตสาหกรรมไทยสู่มาตรฐานสากล และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ GDP ไทยเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยไทยตั้งเป้าลดคาร์บอนและมุ่งสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งเป็นความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อมและโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจใหม่
ส.อ.ท. ผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านนโยบาย ONE FTI โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิม และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพ และหุ่นยนต์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อุตสาหกรรมสีเขียว และ Net Zero
นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็น Smart SMEs ด้วยแนวคิด 4GO คือ GO Digital & AI, GO Innovation, GO Global และ GO Green เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน
NOW Thailand วันนี้ไม่ใช่แค่แผนหรือแนวคิด แต่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาสังคม และสถาบันการเงิน ในการเร่งรัดการลงทุนและยกระดับอุตสาหกรรมสู่ Next-Gen Industry ที่เน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเป้าหมายร่วมกันภายใต้แนวคิด ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal) ส.อ.ท. และ กนอ. พร้อมเป็นพันธมิตรกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สำหรับการสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 “Eco Innovation Forum 2024” กนอ. ร่วมกับ ส.อ.ท. จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “NOW THAILAND : Sustainable Futures” มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน นอกจาก มีการปาฐกถาพิเศษ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีพิธีมอบโล่เกียรติยศและใบประกาศเกียรติคุณ ให้แก่นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมที่ยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-World Class 9 แห่ง ระดับ Eco-Excellence 25 แห่ง ระดับ Eco-Champion 40 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) 79 แห่ง และโรงงานเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกดีเด่น 5 แห่ง
นอกจากนี้ การสัมมนายังแบ่งเป็น 4 ห้อง ประกอบด้วย 1.Eco Industry to Sustainable & ESG 2.Eco Journey to Carbon Neutrality 3.การบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ตามหลัก Circular Economy และ 4.เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ Big Data สําหรับอุตสาหกรรมในอนาคต โดยการจัดงานในปีนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ลงทะเบียนเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 500 คน.