สศค.จัดกิจกรรมวิชาการ เรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ครั้งที่ 4/67
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผลการจัดกิจกรรมวิชาการ เรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ครั้งที่ 4/2567 (กิจกรรมวิชาการฯ) ที่จัดขึ้นโดยกองนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 08.00 – 12.00 น. ณ ห้องประดับเงิน อาคารแกรนด์บอลรูม โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น (PETCHARAT GARDEN HOTEL) อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ว่ากิจกรรมวิชาการฯ ในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมวิชาการฯ ครั้งที่ 4 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความมั่นใจในประเด็นการคุ้มครองผลประโยชน์และผู้ใช้บริการทางการเงิน ทั้งในด้านการคุ้มครองเงินฝาก การวางแผนการเงิน การลงทุน และภัยทางการเงิน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย อาทิ ประชาชน ผู้ฝากเงิน สถาบันการเงิน สถานศึกษา ภาคธุรกิจ ส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการฯ และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาทั้งสิ้นประมาณ 150 คน
โดยมีนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้กล่าวเปิดกิจกรรมวิชาการฯ และได้กล่าวถึง “บทบาทของกระทรวงการคลังกับนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน” พร้อมทั้งได้แนะนำพันธกิจและผลงานของกองนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน ในด้านนโยบายการคุ้มครองเงินฝาก นอกจากนี้ สศค. ยังได้รับเกียรติจากนายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคณะผู้จัดกิจกรรมวิชาการฯ ในครั้งนี้
กิจกรรมวิชาการฯ หัวข้อ “คุ้มครองการเงินไทยในยุคดิจิทัล” วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย นางสาวศิริวรรณ กมลวิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนายวิศลย์ ปรีชา รองผู้อำนวยการ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยมีนายปภินวิช ไหวดี เศรษฐกรชำนาญการ ส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก กองนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญของกิจกรรมวิชาการฯ ครอบคลุมสาระสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ประโยชน์ด้านการคุ้มครองเงินฝาก ในกรณีที่สถาบันการเงินเกิดปัญหาจนกระทั่งปิดกิจการ ผู้ฝากจะได้รับเงินฝากคืนโดยไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เป็นภาระทางการคลังของประเทศ 2) ประโยชน์ในด้านการเพิ่มรายได้ด้วยการลงทุน จากหลัก 3 รู้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง คือ 1) รู้เรา รู้ว่าตนเองสามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้ในระดับใด 2) รู้เขา รู้จักประเภทของสินทรัพย์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตนเอง 3) รู้ระวัง รู้จักภัยทางการออมการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ และที่สำคัญ คือ การระวังป้องกัน และ 3) ประโยชน์จากการรู้จักและหลีกเลี่ยงภัยทางการเงิน โดยการติดอาวุธป้องกันภัยทางการเงินผ่านการทำความรู้จักรูปแบบของภัย กลโกงทางการเงินที่สำคัญ คือ การระวังป้องกัน นอกจากนี้ ยังมีความรู้ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน สิทธิของลูกหนี้ ช่องทางการแก้หนี้ เช่น มาตรการรวมหนี้ที่จะช่วยลดภาระการชำระหนี้ ซึ่งท่านสามารถนำความรู้นี้ไปเผยแพร่เพื่อประโยชน์กับสังคมแวดล้อมได้
โดยสรุป กิจกรรมวิชาการฯ ในครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน อันจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 12.50 – 16.00 น. สศค. ยังได้จัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝากให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 141 คน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจและได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากนักเรียน ผู้บริหาร และคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก.