คลังชี้! สัญญาณเศรษฐกิจไทย ม.ค.67 ดีขึ้น เหตุท่องเที่ยว-บริโภคเอกชน-ส่งออกโตต่อเนื่อง

กระทรวงการคลังเผย! สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่ เศรษฐกิจภูมิภาค ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภาพรวม ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ดีขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มฉลุย ยอมรับภาครัฐ ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า : โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.4  และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 9.4 ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -1.8  แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 7.6 สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -2.7 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.1 ในขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.6 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมกราคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62.9 จากระดับ 62.0 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 47 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า : โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -26.5  และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1  สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -7.2 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.8 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.3

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน : โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 22,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 10.0 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 9.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยขยายตัวร้อยละ 106.3 56.3 และ 32.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้าข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงรสอาหาร และเครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 45.9 30.1 23.3 และ 18.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย ชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวดีขึ้นในตลาดทวีปออสเตรเลีย อาเซียน-5 และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 27.2 18.1  และ 13.7 ตามลำดับ รวมทั้งกลุ่มตลาดอื่น ๆ อาทิ ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 64.6

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน สำหรับภาคบริการมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน : โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมกราคม 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน  3.04 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่¬¬อนที่ร้อยละ 41.5 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย ตามลำดับ ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.4 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.2 จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดี ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล ยังคงขยายตัว สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.6 จากระดับ 88.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน  รวมถึงภาคการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลก

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี : สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ -1.11 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.52 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.3 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 อยู่ในระดับสูงที่ 221.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับ ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคเดือนมกราคม 2567 นั้น ผอ.สศค. กล่าวว่า  เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมกราคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในภาคใต้ และภาคเหนือ และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยสรุปดังนี้

เศรษฐกิจภาคใต้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจภาคเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจภาคกลาง ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้น อีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจภาคตะวันตก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกร อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วน เศรษฐกิจภาคตะวันออก ชะลอตัวทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ชะลอตัวทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นายพรชัย ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตการเกษตรได้ โดยสรุปดังนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 83.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อันเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องจากหลายภาคส่วน ซึ่งรวมถึงมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน จากอุปสงค์สินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของภาครัฐที่ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดมากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  พบว่าอยู่ที่ระดับ 86.3 โดยได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในพื้นที่อุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของจังหวัด

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 76.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม จากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป และภาคบริการ เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 74.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ ตามแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และภาคอุตสาหกรรม จากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 74.7 สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 72.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ให้เพียงพอต่อความต้องการ และภาคบริการ อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐ อาทิ มาตรการ Easy E-Receipt และ Visa Exemption อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศที่แปรปรวนที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในการทำเกษตรกรรม

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 71.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและภาคการบริการ จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการ Easy E-Receipt และการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองรอง อย่างไรก็ตาม  ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และสำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 66.4 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password